เอเจนซี - ปตท.สผ. จ่อฮุบกิจการโคฟ เอ็นเนอร์ยี และเข้าถึงแหล่งก๊าซขนาดใหญ่นอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกเพื่อส่งกลับมาขายในเอเชียที่กำลังหิวโหยพลังงาน หลังรอยัล/ดัตช์ เชลล์ ถอนตัวจากศึกประมูลนาน 5 เดือนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
วันจันทร์ที่ผ่านมา (16) ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลการควบกิจการของอังกฤษ ออกคำสั่งขีดเส้นให้เป็นวันสุดท้ายในการแถลงข้อเสนอซื้อปัจจุบัน ปรากฏว่า รอยัล-ดัตช์ เชลล์ ได้ออกคำแถลงระบุว่า บริษัทตัดสินใจไม่ทบทวนราคาเสนอซื้อหุ้นโคฟ เอ็นเนอร์ยี และไม่เข้าร่วมกระบวนการประมูลโคฟ ซึ่งกำหนดเริ่มต้นขึ้นในวันอังคาร (17) และเปิดให้ประมูลจนถึงวันที่ 25 เดือนนี้
การถอนตัวของเชลล์ทำให้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มีโอกาสสูงที่จะได้ครองกิจการโคฟ และนำไปสู่การเข้าถึงแหล่งก๊าซขนาดใหญ่นอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกที่เพิ่งสำรวจพบเมื่อปีที่แล้ว
โคฟซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอนนั้น ถือหุ้น 8.5% ในสัมปทานการสำรวจแหล่งก๊าซโรวูมา นอกชายฝั่งโมซัมบิกในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งอาจเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) สำคัญที่ป้อนให้แก่เอเชียที่กำลังหิวโหยพลังงาน
ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นของโคฟซื้อขายกันในตลาดสูงกว่าราคาประมูลของปตท.ที่ 240 เพนซ์ต่อหุ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า เชลล์อาจเพิ่มราคาเสนอซื้อจากเดิมซึ่งยืนไปที่ 220 เพนซ์ต่อหุ้น
สก็อต ดาร์ลิง หัวหน้าแผนกวิจัยน้ำมันและก๊าซในเอเชียของบาร์เคลย์ เชื่อว่า ความที่ราคาน้ำมันเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ สถิติสูงสุด ส่งผลให้ราคาเสนอซื้อโคฟสูงกว่าปกติตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ดาร์ลิงตั้งข้อสังเกตว่า การที่ก๊าซสำรองของโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ทำให้ยากประเมินค่าได้ โดยบาร์เคลย์ก็ให้แถบราคาที่หมาะสมซึ่งกว้างมากๆ เช่นกัน นั่นคืออยู่ที่ระหว่าง 175-395 เพนซ์ต่อหุ้น
ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า ปตท.อาจต้องลงทุนในโครงการนี้ปีละ 1,000-1,500 ล้านดอลลาร์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ราคาหุ้นโคฟที่ปิดการซื้อขายที่ 275.5 เพนซ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ร่วงลง 13.6% มาปิดที่ 238.5 เพนซ์ในวันจันทร์ รับข่าวเชลล์ยุติการประมูล ซึ่งส่งผลกระทบต่อกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) หลายแห่งที่เดิมพันเอาไว้ว่า งานนี้เชลล์จะชนะปตท.
**สอดรับแผนเพิ่มกำลังผลิต**
ปตท. สผ. รัฐวิสาหกิจของไทย และผู้สำรวจแหล่งก๊าซและน้ำมันอิสระรายใหญ่อันดับ 3 ของเอเชีย นอกจากจะมีสภาพคล่องพร้อมแล้ว ในประเทศไทยเองก็มีความต้องการได้สัญญาซื้อแอลเอ็นจีล่วงหน้าเป็นอย่างยิ่ง
ความต้องการก๊าซของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากตามภาวะการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยไทยเริ่มเปิดเทอร์มินอลนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีแห่งแรกในปีที่ผ่านมา และมีแผนเพิ่มศักยภาพของสถานีนำเข้าเป็น 10 ล้านตันต่อปีภายในปี 2016
เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ปตท. สผ. ที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อไม่นานมานี้ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า บริษัทมีแผนลงทุน 2,600 ล้านดอลลาร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 5 ปีหน้า และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันอีก 3 เท่าเป็น 900,000 บาร์เรลต่อวัน (บีพีดี) ภายในปี 2020
ขณะเดียวกัน นางสาวเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและบัญชี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันอังคาร(17)ที่ผ่านมาว่า บริษัทได้รับวงเงินกู้ระยะสั้นในรูป Bridge Loan มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์จากธนาคารยูบีเอส เพื่อนำมาซื้อกิจการโคฟในครั้งนี้
ปตท.สผ. มีส่วนร่วมในการโครงการสำรวจและพัฒนาก๊าซและน้ำมัน 41 โครงการ และมีแผนเพิ่มการผลิตในแหล่งน้ำมันที่มีอยู่ โดยเริ่มจากแหล่งมอนทาราในออสเตรเลียปลายปีนี้
**เชลล์หวั่นจ่ายแพงไป**
เชลล์และปตท.สผ.นั้นเข้าสู่การประมูลเพื่อควบกิจการโคฟอย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008
การถอนตัวของเชลล์ครั้งนี้สร้างความประหลาดใจอย่างมาก แม้บริษัทไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ทว่า แหล่งข่าววงในเผยว่า บริษัท 2สัญชาติอังกฤษ-ฮอลแลนด์แห่งนี้ไม่ต้องการจ่ายแพงเกินไป และมั่นใจว่าจะสามารถเข้าสู่การประมูลแหล่งก๊าซในแอฟริกาตะวันออกได้ด้วยช่องทางอื่นๆ
นักวิเคราะห์และวาณิชธนกรมองว่า กลุ่มกิจการน้ำมันและก๊าซอันดับ 1 ของยุโรปแห่งนี้ มีโอกาสอื่นๆ ในการเข้าถึงแหล่งก๊าซในโมซัมบิกและแทนซาเนีย ซึ่งเป็นเหตุผลในการพยายามควบกิจการโคฟก่อนหน้านี้
ว่ากันว่ามีความเป็นไปได้ที่เชลล์จะเข้าสู่โครงการนี้ผ่านหุ้นส่วนอื่นๆ ในอนาคต เช่น อนาดาร์โก บริษัทสำรวจแหล่งพลังงานของสหรัฐฯ ที่มีหุ้น 36.5% ในสัมปทานของโมซัมบิก แต่มีประสบการณ์ในด้านเอ็นแอลจีน้อยมาก รวมถึงการร่วมเป็นพันธมิตรกับอีเอ็นไอของอิตาลีที่สำรวจพบก๊าซในโมซัมบิก หรือบีจี กรุ๊ป และเอ็กซอน โมบิลที่พบแหล่งก๊าซนอกชายฝั่งแทนซาเนีย