เอเอฟพี – ขณะที่นักกีฬาเตรียมพร้อมสร้างสถิติใน “โอลิมปิกลอนดอน” นักวิจัยก็กำลังแข่งขันกับตัวเองในการพัฒนาการทดสอบต่างๆ ซึ่งจะเปิดโปง “ตัวโกง” ที่ใช้เทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อคว้าเหรียญทองมาครอง แม้ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าคงจะไม่ทันนำมาใช้ในมหกรรมกีฬาของมนุษยชาติคราวนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 27 เดือนนี้ก็ตาม
แม้ไม่มีใครมั่นใจว่า “gene doping” หรือการโด๊ปในทางพันธุกรรม เกิดขึ้นแล้วจริงๆ หรือยัง แต่ความเป็นไปได้ในทางทฤษฎีของกรรมวิธีนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่เจ้าหน้าที่ด้านกีฬากังวลใจ
แอนดี้ มิอาห์ นักชีวจริยธรรม ระบุว่า ยังไม่สามารถตรวจสอบเรื่องนี้ได้ในขณะนี้
ในทางทฤษฎีนั้น การโด๊ปยีนอาจหมายถึงการที่นักกีฬาฉีดดีเอ็นเอที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายโดยใช้พาหะ เช่น เชื้อไวรัส เพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนส่งเสริมการเติบโตของกล้ามเนื้อ หรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ
ไวรัสทำงานด้วยการบังคับให้ดีเอ็นเอที่บรรจุคำสั่งทางพันธุกรรมของตัวเองเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์และแบ่งตัว
ดอน แคทลิน แพทย์ที่ช่วยก่อตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบสารกระตุ้นครั้งแรกในอเมริกา ชี้ว่า นักวิจัยสามารถนำยีนของนักกีฬาที่สมบูรณ์เต็มที่มาดัดแปลงเพื่อทำให้นักกีฬาผู้นั้นแข็งแรงและมีสมรรถนะดีขึ้น
แคทลินเสริมว่า ความเป็นไปได้ทางทฤษฎีในประเด็นนี้หมายความว่า อาจมีบางคนพยายามทำอยู่หรือจะพยายามทำในอนาคต
ปี 2006 วงการกีฬาโลกตะลึงเมื่อโค้ชชาวเยอรมันคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่า พยายามเข้ารับการทดลองการบำบัดด้วยยีนที่เรียกว่า Repoxygen ก่อนกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว
เรพออกซิเจนซึ่งเป็นวิธีที่เชื่อว่าอาจใช้รักษาโรคโลหิตจางได้นั้น มีการใช้ไวรัสสังเคราะห์ที่มียีน erythropoietin (EPO) หรือฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และเป็นสารกระตุ้นยอดนิยมของนักปั่นจักรยานและนักวิ่ง
องค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (WADA) เพิ่มการโด๊ปยีนในรายการสารและกรรมวิธีต้องห้ามในปี 2003 และใช้เงินเป็นล้านๆ ดอลลาร์เพื่อพัฒนาวิธีการตรวจสอบ
เดวิด ฮาวแมน ผู้อำนวยการใหญ่ของ WADA ระบุว่า ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่ามีนักกีฬาคนใดทำการดัดแปลงทางพันธุกรรม
ทว่า มิอาห์ นักชีวจริยธรรมผู้จัดทำรายงานหลายฉบับเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นในกีฬาโอลิมปิก ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ไม่พบหลักฐานแต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้ไม่ได้กำลังเกิดขึ้น เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ไม่มีใครรู้ว่านักกีฬากำลังทำอะไรอยู่
ผู้สังเกตการณ์อย่างมิอาห์, แคทลิน และอลัน วิลเลียมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์กีฬา กล่าวตรงกัน ว่า แม้ยังไม่มีวิธีการทดสอบการโด๊ปยีนที่แม่นยำในโอลิมปิกหนนี้ แต่เชื่อว่า WADA จะไม่ละทิ้งประเด็นนี้
วิลเลียมส์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมโทรโพลิแทน เสริมว่า เกือบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้วิธีตรวจเลือดหรือปัสสาวะเพื่อมองหายีนกระตุ้นการเติบโตที่ฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อโดยตรง ขณะที่การส่องตรวจกล้ามเนื้อแม้มีโอกาสตรวจพบมากกว่า แต่จำเป็นต้องตรวจกล้ามเนื้อทั้งหมด ซึ่งเป็นเทคนิคที่ไม่มีแนวโน้มจะได้รับอนุมัติ
วิลเลียมส์กล่าวด้วยว่า การใช้เทคนิคที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีโอกาสตรวจพบดีเอ็นเอแปลกปลอมในตัวนักกีฬา มากพอๆ กับโอกาสในการงมเข็มในมหาสมุทร แต่ในอีก 2.-3 ปีน่าจะมีการพัฒนาเทคนิคที่ใช้การได้ขึ้นมา
เนื่องจากภายใต้กฎใหม่ ตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของนักกีฬาโอลิมปิกจะถูกเก็บรักษานาน 8 ปี ดังนั้นจึงหมายความว่าสามารถตรวจสอบการโด๊ปยีนย้อนหลังได้หลังจากมีวิธีทดสอบที่แม่นยำแล้ว
นักวิจัยยังเตือนว่า การบำบัดด้วยยีน แม้กระทั่งในกรณีเพื่อการรักษาโรค เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ และเบาหวาน ก็ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นและมีความเสี่ยงสูง ด้วยเหตุนี้การโด๊ปยีนจึงอยู่ในข่ายเดียวกัน ทว่า เรื่องนี้คงไม่อาจหยุดยั้งนักกีฬาบางคนที่หวังเหรียญทองทางลัดได้