xs
xsm
sm
md
lg

กรณีฆาตกรรม‘ยัสเซอร์ อาราฟัต’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ซามี มูบายเอด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The murder of Yasser Arafat
By Sami Moubayed
13/07/2012

หลักฐานกำลังปรากฏเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาเกือบๆ 8 ปีที่ผ่านมาภายหลังการถึงแก่มรณกรรมของเขา ว่าแท้ที่จริงแล้ว ยัสเซอร์ อาราฟัต เสียชีวิตด้วยการถูกฆาตกรรม โดยน่าจะถูกวางยาพิษด้วยสารกัมมันตรังสีพอโลเนียม สำหรับตัวการสำคัญที่น่าสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุคราวนี้ คนหนึ่งคืออดีตนายกรัฐมนตรี เอเรียล ชารอน ของอิสราเอล ส่วนอีกคนหนึ่งคือ โมฮัมหมัด ดาห์ลัน อดีตหัวหน้าใหญ่ฝ่ายความมั่นคงของปาเลสไตน์ ทว่าก็มีคนอื่นๆ อีกไม่ใช่น้อย ซึ่งรู้สึกยินดีปรีดาที่ได้เห็นการสิ้นชีพของบุรุษผู้มีคุณสมบัติอันค่อนข้างหายากประการหนึ่งในโลกอาหรับ นั่นก็คือ ความเป็นผู้นิยมชมชื่นประชาธิปไตย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ตอนที่ ยัสเซอร์ อาราฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ซึ่งเป็นที่เคารพรักของผู้คนจำนวนมากมาย ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2004 ด้วยวัย 75 ปีนั้น สาเหตุแห่งการล้มป่วยหนักอย่างกะทันหันและเสียชีวิตลง ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงปารีสของเขาคราวนั้น ถูกบันทึกเอาไว้ว่า “ไม่ทราบ” สำหรับคนที่มีอายุสูงวัยขนาดเขาแล้ว การใช้คำๆ นี้ในกรณีนี้อย่างน้อยที่สุดก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดผิดปกติธรรมดา

พวกสื่อมวลชนของอิสราเอลมักเสนอรายงานข่าวกันอยู่เป็นระยะๆ ว่า อาราฟัตนั้นสิ้นชีพลงด้วยโรคเอดส์ ขณะที่ชาวปาเลสไตน์กลุ่มต่างๆ ซึ่งมีแนวความคิดทางการเมืองและทางสังคมแตกต่างผิดแผกกันออกไป ต่างก็ยืนยันว่าอดีตประธานาธิบดีของพวกเขาผู้นี้ถูกฆาตกรรม ตลอดระยะเวลาที่ผันผ่านมาหลายๆ ปีทีเดียว โลกได้พากันเยาะเย้ยเสียดสีใส่พวกเขาเหล่านี้ โดยระบุว่าไม่ว่าชาวอาหรับโดยรวมหรือเน้นเฉพาะเจาะจงไปที่ชาวปาเลสไตน์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพวกซึ่งชื่นชอบที่จะถูกปั่นหัวด้วย “ทฤษฎีสมคบคิด” เหลวๆ ไหลๆ อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ ซึ่งเวลาล่วงเลยไป 8 ปีแล้ว คดีของอาราฟัตกำลังหวนคืนกลับโดดเด่นขึ้นมาใหม่อย่างน่าเชื่อถือ เมื่อมีหลักฐานใหม่ๆ บ่งชี้ให้เห็นว่า เขาน่าจะถูกวางยาพิษจริงๆ

ภายหลังจากโทรทัศน์อัล-ญะซีเราะห์ (al-Jazeera TV) สื่อมวลชนสำคัญของฝ่ายอาหรับซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในโดฮา ได้ติดตามทำรายงานข่าวสืบสวนที่ใช้เวลาในการขุดเจาะรวบรวมเป็นเวลา 9 เดือน และได้ข้อมูลและข้อสรุปใหม่ๆ จำนวนมาก โดยที่มีการนำออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ มันก็เป็นที่ชัดเจนว่าบัดนี้มีหลักฐานอันพิสูจน์ได้ว่า พบสารกัมมันตรังสีพอโลเนียม 210 (radioactive polonium 210) ซึ่งเป็นพิษถึงตาย ในระดับที่สูงมากทีเดียวในตัวยัสเซอร์ อาราฟัต การที่ยาพิษชนิดนี้มีคุณสมบัติซึ่งทำให้มันสามารถหลบเลี่ยงการติดตามตรวจสอบได้ถ้าหากไม่ได้มีการมุ่งค้นหาอย่างเจาะจงกันจริงๆ ในห้องแล็ป คือเหตุผลที่อธิบายได้ว่าทำไมจึงไม่มีใครสังเกตพบเห็นอะไรเลยหากย้อนหลังกลับไปในปี 2004 ทั้งนี้ภายหลังอาราฟัตถึงแก่มรณกรรมไปแล้ว 2 ปี อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโค (Alexander Litvinenko) ชาวรัสเซียผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหมีขาวและมีอดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การสืบราชการลับเคจีบี (KGB) ในยุคสหภาพโซเวียต ก็ได้ถูกฆาตกรรมในกรุงลอนดอนด้วยฝีมือของพวกสายลับรัสเซียโดยที่ใช้ยาพิษอย่างเดียวกันนี้ ปรากฏว่าเวลาผ่านไป 3 สัปดาห์ทีเดียวกว่าที่เขาจะเสียชีวิตจากสารพอโลเนียม และก็เหมือนกับในกรณีของอาราฟัต ในตอนแรกคณะแพทย์ที่ดูแลรักษาเขาเขียนระบุสาเหตุการสิ้นชีวิตของเขาว่า เนื่องจาก “อุบัติเหตุ”

หลังการรายงานข่าวของอัล-ญะซีเราะห์ ภริยาหม้ายของอาราฟัตก็ได้จัดส่งพวกแปรงสีฟัน, ชุดชั้นใน, และข้าวของอื่นๆ ของสามีผู้ล่วงลับของเธอ ไปให้ห้องแล็ปสวิสซึ่งเป็นที่ยกย่องเชื่อถือกันแห่งหนึ่งเพื่อดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม เธอยังอนุญาตให้นำศพของเขาขึ้นมาทำการชันสูตรใหม่ โดยที่ มาหมุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีปาเลสไตน์คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าแก่ยาวนานและเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่งของอาราฟัต ได้รีบออกมาประกาศเห็นชอบด้วย คาดหมายกันว่าภายหลังการตรวจร่างกายและไขกระดูกของเขาแล้ว ก็จะสามารถทำการทดสอบเพื่อพิสูจน์ยืนยันว่ามียาพิษกัมมันตรังสีอยู่ในระบบต่างๆ ในร่างกายของเขาหรือไม่ ถ้าหากผลการทดสอบออกมาว่ามี บุคคลที่ใครๆ ต่างกำลังชี้นิ้วระบุว่าน่าจะเป็นตัวการก็มีอยู่ 2 รายด้วยกัน ได้แก่ เอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอลในเวลาที่อาราฟัตถึงแก่อสัญกรรม และ โมฮัมหมัด ดาห์ลัน (Mohammad Dahlan) อดีตหัวหน้าฝ่ายรักษาความมั่นคงปลอดภัยขององค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (Palestinian National Authority หรือ PNA)[1]

เรามาลองศึกษาพิจารณากันถึงผู้ต้องสงสัยรายสำคัญทั้ง 2 คนนี้ดู สำหรับ ชารอน นั้น เขาเคยคร่ำครวญในที่สาธารณะอยู่บ่อยครั้งว่ารู้สึกเสียใจที่ไม่ได้กำจัดอาราฟัตไปเสียเมื่อเขามีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ในช่วงปี 1982 กระทั่งถึงตอนต้นปี 2004 อันเป็นปีที่อาราฟัตเสียชีวิต ชารอนยังเอ่ยปากเปรยว่าอาราฟัตเป็นคนที่ “ไม่มีกรมธรรม์ประกันชีวิต” เรื่องการก่อเหตุฆาตกรรมมุ่งสังหารผู้นำของปาเลสไตน์เป็นเรื่องที่ฝ่ายอิสราเอลเคยกระทำมาก่อนแล้ว โดยกรณีซึ่งเป็นที่ฮือฮากันมากก็คือในปี 1997 เมื่อพวกเขาเกือบจะประสบความสำเร็จในการสังหาร คอเลด เมชาล (Khaled Meshaal) ผู้นำของกลุ่มฮามาส (Hamas) ขณะที่เขาพำนักอยู่ในกรุงอัมมัน เมืองหลวงของจอร์แดน โดยที่มี เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในตอนนั้นและกลับมานั่งเก้าอี้นี้อีกคำรบหนึ่งในปัจจุบัน เป็นผู้ออกคำสั่ง มันไม่มีอะไรเลยที่จะยับยั้งไม่ให้พวกเขากระทำเช่นนั้นอีกกับอาราฟัต ผู้ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคนสำคัญที่สุด และเป็นบุคคลผู้ที่สร้างความลำบากเดือดร้อนให้พวกเขามากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1967 เป็นต้นมา [2]

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าคิดอยู่ว่าถ้าหากชารอนกระทำเรื่องนี้จริงๆ เขาก็คงไม่ปกปิดซุกซ่อนภารกิจคราวนี้ ซึ่งเขาย่อมถือว่าเป็นผลงานที่สร้างประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ให้แก่อิสราเอล อันที่จริงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2001 แล้ว ชารอนก็ได้พันธนาการอาราฟัตเอาไว้ให้อยู่แต่ภายในเขตที่ทำการของเขาในเมืองรามัลเลาะห์ (Ramallah) [3] โดยปฏิเสธไม่ยอมให้เขาได้พบปะกับชาวต่างชาติ ไม่ยอมอนุมัติให้เขาเดินทาง และกระทั่งไม่ยอมให้เขาได้นอนหลับพักผ่อน ทั้งนี้อิสราเอลจะจัดการฝึกซ้อมต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าในตอนกลางคืนในบริเวณถัดจากห้องนอนของเขาพอดี เพื่อไม่ให้เขาเป็นอันพักผ่อนอย่างมีความสุข แล้วยังมีการฝึกยิงปืนซึ่งเล็งไปยังเขตที่ทำการของอาราฟัต โดยที่เขาจะถูกยิงแน่ๆ หากกล้าออกมาภายนอก “คุก” ของเขา

ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็มีข้อน่าสงสัยว่าถ้าหากฝ่ายอิสราเอลไม่มีอะไรที่จะต้องปกปิดซุกซ่อนจริงๆ แล้ว ทำไมนายกรัฐมนตรีอิสราเอลจึงลงนามประกาศใช้กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาระบุให้ขยายเวลาในการเก็บรักษาเอกสารสำคัญของรัฐที่ถูกจัดชั้นความลับ ทั้งนี้จากกฎหมายฉบับดังกล่าวหมายความว่าเอกสารทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับสงครามปี 1948 [4] ตลอดจนความเป็นไปอันมากมายมโหฬารหลังจากนั้น จะยังคงถูกเก็บลั่นกุญแจเอาไว้จนกว่าจะถึงปี 2018 หรือ 70 ปีพอดีภายหลังการสูญเสียแผ่นดินปาเลสไตน์

สำหรับบันทึกต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับการถึงแก่มรณกรรมของอาราฟัต ก็จะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนจวบจนกระทั่งถึงปี 2074 การที่นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ บังเกิดขึ้นภายหลังองค์การชินเบต (Shin Bet) หน่วยงานรักษาความมั่นคงภายในของอิสราเอล ได้ออกแรงกดดันเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเปิดเผยเอกสารในหอจดหมายเหตุของประเทศ ตามปากคำของ เยโฮชัว ฟรอยด์ลิช (Yehoshua Freundlich) ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอิสราเอล บันทึกต่างๆ เหล่านี้ยังคงถูกจัดชั้นความลับ ก็เนื่องจาก “มันมีนัยต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ (ของอิสราเอล)” เขากล่าวต่อไปด้วยว่า “ผมได้รับการชี้แจงจนแน่ใจว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน วัสดุเอกสารต่างๆ เหล่านี้ยังไม่เหมาะที่จะเปิดเผยให้สาธารณชนได้ดูได้ชมกัน”

** “ดาห์ลัน”กับอิสราเอล**

เมื่อตอนที่กลุ่มฮามาส [5] เข้ายึดครองพื้นที่ฉนวนกาซาเอาไว้ในปี 2007 พวกผู้นำของกลุ่มนี้อ้างว่า พวกเขาค้นพบจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2003 มันเป็นจดหมายที่ โมฮัมหมัด ดาห์ลัน เขียนไปถึง ชาอูล โมฟาซ (Shaul Mofaz) รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลในเวลานั้น ตามการบอกเล่าของกลุ่มฮามาส ดาห์ลันระบุในจดหมายฉบับดังกล่าวว่า “ความหวาดกลัวที่มีกันอยู่ในเวลานี้ก็คือ ยัสเซอร์ อาราฟัต จะผนวกรวมสภานิติบัญญัติ เพื่อให้มีการถอนความไว้วางใจ (ในคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอับบาส) เพื่อป้องกันไม่ให้เขากระทำเช่นนี้ได้ ผมปรารถนาที่จะเห็นความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่ายและบีบคั้นกดดัน (เขา)” เนื้อความในจดหมายดังกล่าวยังบอกด้วยว่า “ต้องให้แน่ใจว่ามิสเตอร์ยัสเซอร์ อาราฟัต กำลังนับวันเวลาท้ายๆ (แห่งชีวิต) ของเขาแล้ว ขอให้เราประหารเขาด้วยวิธีของเรา – ไม่ใช่วิธีของท่าน”

จดหมายติดต่อระหว่างดาห์ลัน-โมฟาซ ฉบับนี้เป็นของแท้หรือเปล่า? หลักฐานที่ปรากฏเปิดเผยออกมาในช่วงใกล้ๆ นี้แน่นอนทีเดียวว่ากำลังทำให้เอกสารชิ้นนี้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น เนื้อความของจดหมายดูจะบ่งชี้ว่ามีบางผู้บางคน ซึ่งอาจจะอยู่ในคณะผู้ติดตามของอาราฟัตเอง เป็นผู้สังหารอาราฟัต การที่อับบาสซึ่งเวลานั้นเป็นนายกรัฐมนตรีและบัดนี้เป็นประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ รีบออกมาประกาศรับรองให้นำศพของอดีตประธานาธิบดีผู้นี้มาชันสูตรกันใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูจะมีวัตถุประสงค์เป็นพิเศษที่จะขจัดปัดเป่าข้อกล่าวหาที่ว่า ตัวเขาเองก็มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมอาราฟัตด้วย

ในเดือนมิถุนายน 2011 ดาห์ลันถูกขับออกมาจากขบวนการฟาตาห์ (Fatah) [6] เนื่องจากถูกประธานาธิบดีอับบาสกล่าวระบุซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเขาสังหารอาราฟัต ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน บ้านพักของเขาถูกกำลังตำรวจปาเลสไตน์บุกจู่โจมตรวจค้น และหน่วยองครักษ์ส่วนตัวของเขาก็ถูกจับไปหลายคน พอถึงเดือนสิงหาคม 2011 พรรคฟาตาห์ก็ได้กล่าวหาเขาว่ากระทำฆาตกรรมอาราฟัตด้วยการใช้ยาพิเศษ นานหลายเดือนทีเดียวก่อนที่อัล-ญะซีเราะห์จะเปิดฉากการสืบสวนสอบค้นเพื่อทำรายงานข่าว ตามปากคำของเพื่อนเก่าแก่คนหนึ่งของอับบาส ซึ่งบอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์โดยขอมิให้เปิดเผยชื่อ ถึงกับระบุว่า “ดาห์ลันเป็นคนที่มีอันตรายยิ่งกว่าอิสราเอลอีก!”

ซามี มูบายเอด เป็นนักวิเคราะห์การเมืองชาวซีเรีย เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Steel & Silk: Men and Women Who Shaped Syria 1900-2000 (Cune Press 2005)

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น