xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “ยิว-ฮามาส” แลกเปลี่ยนนักโทษสัญญาณบวกสันติภาพตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัญญาณแห่งสันติภาพในตะวันออกกลางปรากฏความหวังขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อในที่สุดทหารยิวนายหนึ่งซึ่งถูกกลุ่มหัวรุนแรงของปาไลสไตน์จับตัวไปขังไว้ในฉนวนกาซานานถึง 5 ปีก็ได้รับการปล่อยตัว โดยแลกกับอิสรภาพของนักโทษคดีอาญาร้ายแรงกว่า 1,000 ชีวิต ที่ถูกอิสราเอลควบคุมตัวไว้ ภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งมีการลงนามร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย 1 สัปดาห์ก่อนหน้า และเป็นข้อตกลงที่เรียกได้ว่ามีราคาแพงที่สุด ที่อิสราเอลยอมควักจ่ายเพื่อแลกกับนายทหารชั้นผู้น้อยเพียงคนเดียว อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี ที่ทหารยิว ซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันได้กลับประเทศโดยยังมีชีวิตอยู่
ชายชาวอิสราเอลโบกธงชาติ ขณะเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งพาสิบโทกิลัด ชาลิต นายทหารยิวกลับบ้านเกิดเมืองนอน หลังถูกจับตัวไปในกาซานานถึง 5 ปี
สิบโท กิลัด ชาลิต ทหารเกณฑ์หนุ่มชาวอิสราเอล วัย 19 ปี ถูกจับตัวไปขณะที่เขากำลังปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ปี 2006 โดยฝีมือกองโจรติดอาวุธของฮามาส ขบวนการต่อสู้อิสลาม และอีก 2 กลุ่ม ที่ขุดอุโมงค์อยู่ใต้ชายแดนกาซา และบุกเข้าโจมตีป้อมทหาร โดยเรียกร้องให้ทางการยิวปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ ที่ถูกกล่าวหาว่าไปก่อเหตุเข่นฆ่าชาวอิสราเอลเป็นการแลกเปลี่ยน

ไม่ถึง 3 วันหลังจากชาลิตถูกจับตัวไป อิสราเอลได้ส่งกองทัพ ทั้งทหาร และรถถังบุกถล่มกาซาครั้งใหญ่ เครื่องบินอีกหลายลำโจมตีเป้าหมายทางอากาศทั่วดินแดนปาเลสไตน์ เพื่อพยายามค้นหาทหารนายนี้ ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 5 เดือน ทว่า ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถช่วยเหลือเขากลับมาได้ ขณะที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับดินแดนที่ยากจนข้นแค้นอยู่แล้ว โดยทำให้มีชาวปาเลสไตน์ทั้งเจ้าหน้าที่ และพลเรือนเสียชีวิตไปมากกว่า 400 คน

สำหรับฮามาส ซึ่งได้รับการเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลปกครองชาวปาเลสไตน์ตามระบอบประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน ปี 2007 มองว่า สิบโทชาลิตเป็นตัวประกันที่มีค่าอย่างยิ่ง เนื่องจากตลอดหลายปีที่ผ่านมา อิสราเอลยอมปล่อยตัวนักโทษนับพันๆ คน เพื่อแลกกับนายทหารยิวเพียงไม่กี่คน ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย ก็ตาม โดยระหว่างการจับเป็นเชลย ฮามาสไม่ยอมใครหน้าไหนเข้าเยี่ยมทหารยิวนายนี้ แม้แต่คณะกรรมการกาชาดสากล จนเกิดความกังวลว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ กระทั่งฮามาสได้เผยแพร่คลิปวิดีโอหนึ่ง ในเดือนตุลาคม ปี 2009 เป็นสัญญาณสุดท้ายว่าเขายังมีชีวิตอยู่ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอล ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้เขาเป็นอิสระให้ได้
สิบโทกิลัด ชาลิต ซึ่งมีร่างกายผ่ายผอม และซูบซีด ทว่า มีใบหน้าเบิกบาน เมื่อได้กลับมาตุภูมิพบหน้าครอบครัว
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา อิสราเอลพยายามเจรจาต่อรอง เพื่อให้กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ปล่อยตัวสิบโทชาลิตหลายครั้ง ซึ่งได้อียิปต์ และเยอรมนีช่วยเป็นคนกลาง แต่ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายได้เสียที จนในที่สุด สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเนทันยาฮูออกมาแถลงต่อประชาชนชาวยิวในวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลอิสราเอลสามารถสรุปข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษกับกลุ่มฮามาสได้แล้วด้วยความยากเย็น เช่นเดียวกับแกนนำกลุ่มฮามาสก็ได้ยืนยันถึงข่าวดีดังกล่าวด้วย

ตามข้อตกลงนี้ ทางการยิวจะยอมปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ 1,027 คน จากทั้งหมดราว 5,000 คน ซึ่งส่วนหนึ่งถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมร้ายแรง และอีกส่วนหนึ่งถูกคุมขัง ทั้งที่ไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ เพื่อแลกกับอิสรภาพของสิบโทชาลิตเพียงคนเดียว โดยระบุถึงขั้นตอนการปล่อยตัวนักโทษกว่า 1,000 คนนั้นไว้ว่า จะแบ่งออกเป็นสองขยัก โดยขยักแรกจะปล่อยตัว 477 คนก่อน และขยักที่สองซึ่งคาดว่าน่าจะมีขึ้นในราวอีก 2 เดือนข้างหน้า ก็จะปล่อยนักโทษทั้งหมดที่เหลืออีก 550 คน
การเฉลิมฉลองอิสรภาพของนักโทษปาเลสไตน์ในเมืองกาซา ซึ่งฝูงชนราว 200,000 ชีวิตมารวมตัวกันแสดงความปลื้มปิติ
และแล้ววันแห่งความยินดีปรีดาของศัตรูคู่อาฆาตอันยาวนาน ยิว-ฮามาส ก็มาถึง เมื่อสิบโท กิลัด ชาลิต ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 25 ปี ได้เดินทางกลับสู่อ้อมอกพ่อแม่ และครอบครัวในอิสราเอลด้วยสีหน้าเบิกบาน แม้ร่างกายดูซีดเซียว และผ่ายผอม ท่ามกลางความชื่นชมของผู้คน และความตื่นเต้นของสื่อต่างๆ ในวันอังคารที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่นักโทษปาเลสไตน์ชุดแรก ซึ่งประกอบด้วยพวกที่มาจากกาซา 296 คน จากเวสต์แบงก์ 117 คน และอีก 15 คนจากนครเยรูซาเลมตะวันออก ก็ได้กลับบ้านเกิดผ่านประเทศที่สาม อย่างอียิปต์ ส่วนนักโทษอีกราว 40 คนจะถูกเนรเทศไปยังประเทศต่างๆ เช่น ตุรกี ซีเรีย หรือไม่ก็กาตาร์ โดยพ่อแม่พี่น้องญาติสนิทมิตรสหายของนักโทษเหล่านั้นได้รอการเฉลิมฉลองหมู่ครั้งใหญ่ในเมืองกาซา ซึ่งประมาณว่ามีคนไปร่วมตัวกันมากถึง 200,000 คนทีเดียว

ทั้งนี้ หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจตะวันตก และสหประชาชาติต่างหวังว่า การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษครั้งนี้จะปูทางไปสู่การฟื้นโต๊ะเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ แม้จะยอมรับกลายๆ ว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาข้อสรุปได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างคู่แค้นถาวรแห่งตะวันออกกลาง ซึ่งต่อสู้รบพุ่งกันมาตลอดเพื่อแย่งชิงดินแดนนั้น ใช่จะจบลง เพียงเพราะสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้ เนื่องจากประเด็นข้อพิพาทในตะวันออกกลางนั้นมีความซับซ้อนทั้งทางประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา สังคม วัฒนธรรม และผลประโยชน์ ซึ่งการที่อิสราเอลยอมทำข้อตกลงราคาแพงนี้ ไม่ได้แสดงถึงเจตนามุ่งหมายสันติภาพแต่อย่างใด ทว่า มันคือหน้าที่ในการพาพลเมืองกลับประเทศ ไม่ว่าจะต้องจ่ายค่าเสียหายมากมายเพียงใดก็ตาม ฉะนั้น ความหวังที่จะให้ทั้งสองฝ่ายวางอาวุธ และภูมิภาคนี้ได้อยู่กันอย่างสงบสุขอาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น