xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: การเมืองอียิปต์ยังอึมครึม บิ๊กทหารล้มสภาปิดกั้นอำนาจ “ปธน.อิสลามิสต์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - อนาคตการเมืองของแดนไอยคุปต์ยังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องจับตามอง หลังจากที่ผู้แทนกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอียิปต์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา อันถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของฝ่ายอิสลามิสต์ ท่ามกลางความกังวลของมหาอำนาจตะวันตกที่เกรงว่าผู้นำใหม่ของอียิปต์จะหันไปอิงแนวคิดอิสลามแบบสุดขั้ว ซึ่งจะทำให้สิทธิเสรีภาพของพลเมืองถูกลิดรอน ขณะที่อิสราเอลก็เกรงว่าความเป็นพันธมิตรกับอียิปต์อาจต้องสั่นคลอน หากอียิปต์ที่มีผู้นำเป็นอิสลามิสต์หันไปสนับสนุนศัตรูของชาวยิวอย่างกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นเครือข่ายของภราดรภาพมุสลิมเอง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอียิปต์ถูกจัดขึ้น หลังอำนาจบริหารตกอยู่ในมือของสภาทหารสูงสุดมานานถึง 18 เดือน นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ถูกประชาชนลุกฮือโค่นจากอำนาจ เมื่อต้นปี 2011

โมฮัมเหม็ด มอร์ซี ซึ่งลาออกกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเพื่อมาลงสนามเลือกตั้ง ได้คะแนนโหวตร้อยละ 51.73 เฉือนชนะคู่แข่งอย่างอดีตนายกรัฐมนตรี อาเหม็ด ชาฟีก ไปเพียงร้อยละ 3.5 หรือประมาณ 880,000 เสียง

มอร์ซี วัย 60 ปี ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และเคยถูกรัฐบาลมูบารัคสั่งจำคุกด้วยคดีการเมือง ประกาศตนจะเป็น “ประธานาธิบดีของชาวอียิปต์ทั้งหมด” ทั้งยังพยายามบรรเทาความกังวลของทุกฝ่ายโดยสัญญาว่า จะเคารพสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีมาก่อน ซึ่งเป็นการพาดพิงโดยตรงถึงข้อตกลงสันติภาพระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล เมื่อปี 1979 รวมทั้งเป็นการผ่อนคลายความวิตกของสหรัฐฯ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงในกองทัพอียิปต์

สหรัฐฯก็เป็นชาติแรกๆที่ออกมาแสดงความชื่นชมผลการเลือกตั้งอียิปต์ โดยโฆษกทำเนียบขาวระบุว่า วอชิงตันพร้อมสนับสนุนอียิปต์ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และเน้นย้ำให้ มอร์ซี เร่งประสานความร่วมมือกับทุกกลุ่มเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ฟื้นฟูเสถียรภาพของประเทศ และหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายแบบสุดโต่ง ขณะที่ จอห์น เคอร์รี วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ก็แนะให้วอชิงตันอย่าเพิ่งด่วนตัดสินผู้นำอียิปต์คนใหม่ซึ่งเป็นอิสลามิสต์ และสหรัฐฯควรสนับสนุนผู้ใดก็ตามที่ได้รับอำนาจปกครองมาตามกระบวนการประชาธิปไตย

ขบวนการฮามาส ซึ่งมีรากฐานอุดมการณ์เดียวกับภราดรภาพมุสลิม ออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของ มอร์ซี พร้อมตั้งความหวังว่ารัฐบาลอียิปต์จะช่วยสนับสนุนการสร้างชาติปาเลสไตน์ และยุติการปิดกั้นฉนวนกาซาโดยอิสราเอล ขณะที่ประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส แห่งปาเลสไตน์ก็กล่าวยกย่อง มอร์ซี ว่าเป็นผู้นำที่ชาวอียิปต์เลือกแล้ว

อย่างไรก็ดี เส้นทางอำนาจของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ยังคงอึมครึม เมื่อสภาทหารสูงสุดซึ่งกุมอำนาจอยู่เบื้องหลังรัฐบาลมูบารัคยังไม่มีทีท่าจะยอมอ่อนข้อให้แก่ฝ่ายอิสลามิสต์ และยังบั่นทอนอำนาจประธานาธิบดีคนใหม่เสียแต่ต้นมือ โดยผลักดันให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า กฎหมายฉบับว่าด้วยการเลือกตั้งรัฐสภาเป็นโมฆะ ดังนั้นผลการเลือกตั้งรัฐสภาที่อิสลามิสต์ครองเสียงข้างมากจึงต้องเป็นโมฆะไปด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ มอร์ซี ได้ตำแหน่งประธานาธิบดีมาโดยปราศจากทั้งรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ ขณะที่อำนาจนิติบัญญัติกลับไปอยู่ในมือของสภาทหารสูงสุด

แอนโธนี คอร์เดสแมน จากศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านพ้นไปไม่ได้ช่วยให้อียิปต์มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังไม่ทราบด้วยว่า อำนาจที่แท้จะตกอยู่ในมือของใคร และใครที่จะเป็นผู้แทนของชาวอียิปต์อย่างแท้จริง

ซัลมาน ชัยค์ จากสถาบันบรุกกิงส์ กรุงโดฮา ชี้ว่า คำประกาศล้มรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งคือความพยายามของฝ่ายทหารที่จะยื้อไม่ให้อำนาจตกไปอยู่กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิมง่ายๆ และยิ่งแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแรงกล้าของพวกเขาที่จะรักษาผลประโยชน์และอิทธิพลที่เคยมีอยู่เดิม ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ประธานาธิบดีคนใหม่ก็อาจต้องยอมประนีประนอม และเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายทหารบ้าง แต่หากทั้ง 2 ฝ่ายเลือกที่จะใช้วิธีรุนแรงเข้าห้ำหั่นกัน อียิปต์อาจต้องเจอสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากแอลจีเรียในปี 1992 ซึ่งกองทัพใช้อิทธิพลสั่งยุบสภาหลังจากผู้แทนอิสลามิสต์ชนะเลือกตั้ง จนนำมาซึ่งความขัดแย้งตลอด 20 ปีให้หลัง

แหล่งข่าวในกลุ่มภราดรภาพมุสลิมระบุว่า เร็วๆนี้อาจมีการประกาศข้อตกลงหลายประการที่ได้เจรจาหารือกับเหล่านายพลอาวุโสไว้เรียบร้อยแล้ว

การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์สร้างความหวาดหวั่นไม่น้อยต่ออิสราเอล ซึ่งเกรงว่าความเป็นพันธมิตรที่เคยได้รับในสมัยมูบารัคจะต้องมีอันผันแปรไป ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ มูบารัค เอื้อเฟื้อต่ออิสราเอลมากที่สุดก็คือ การช่วยจำกัดอิทธิพลของขบวนการฮามาส ซึ่งไม่ยอมรับสิทธิในการมีอยู่ของอิสราเอล

หลังจาก มูบารัค พ้นอำนาจ อิสราเอลก็ยังคงรักษาสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสภาทหารอียิปต์เสมอมา จึงไม่น่าแปลกใจที่อิสราเอลไม่ปริปากคัดค้านแม้แต่น้อย เมื่อสภาทหารสูงสุดประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะลดทอนอำนาจของประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งคาดหมายกันมานานว่าจะเป็นคนของอิสลามิสต์ ในขณะที่วอชิงตันกลับเป็นฝ่ายร้อนใจมากกว่า และยังเรียกร้องให้สภาทหารยอมส่งมอบอำนาจปกครองโดยสมบูรณ์ให้แก่รัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ตามที่เคยให้สัญญาไว้

บทวิเคราะห์จากหนังสือพิมพ์ Yedioth Ahronoth ของอิสราเอล ระบุว่า ท่าทีของสภาทหารสูงสุดอียิปต์นับว่าเป็นผลดีทางอ้อมต่ออิสราเอล แต่อียิปต์ในวันนี้ก็แตกต่างไปจากในอดีต และข้อตกลงความร่วมมือระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลก็อยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงอย่างที่สุด ดังนั้นอิสราเอลจึงควรเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายยิ่งขึ้น

ท่ามกลางกระแสความหวาดหวั่นทั้งหลายทั้งปวง การเลือกตั้งประธานาธิบดียังถือเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญยิ่งสำหรับพลเมืองอียิปต์ ซึ่งไม่เคยได้รับสิทธิในการเลือกผู้ปกครองอย่างเสรีมาก่อน ตลอดประวัติศาสตร์ที่ยาวนานหลายพันปี

กระนั้นก็ดี การมีประธานาธิบดีที่ไร้อำนาจ รัฐสภาที่ล้มเหลว ภาวะไร้รัฐธรรมนูญ และการยื้ออำนาจของทหาร ก็เป็นสิ่งที่นักปฏิวัติในอียิปต์ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น ดังนั้น การเลือกตั้งในอียิปต์จึงอาจไม่ใช่จุดจบของปัญหาการเมือง และยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปอย่างใกล้ชิด

กำลังโหลดความคิดเห็น