เอเอฟพี - ฝรั่งเศสและเยอรมนีจัดพิธีรำลึกครบรอบ 50 ปีแห่งการปรองดองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้นำทั้งสองชาติย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น พร้อมประณามการดูหมิ่นสุสานทหารเยอรมันในฝรั่งเศส ซึ่งเกิดขึ้นก่อนพิธีรำลึกเพียง 1 วัน
เหตุมือป่วนนิรนามบุกทำลายสุสานทหารเยอรมันยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 กว่า 40 แห่ง เกิดขึ้นเพียง 1 วันก่อนจะถึงพิธีรำลึกซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแรมส์ (Reims) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสมรภูมิรบนานหลายร้อยปีระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนี
ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ พยายามบรรเทาความบาดหมางที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุทำลายสุสาน โดยกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี ณ มหาวิหารแห่งเมืองแรมส์ ว่า “ไม่มีพลังอันชั่วร้ายหรือความโง่เขลาใดๆ จะมาบั่นทอนมิตรภาพที่แนบแน่นระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีได้”
“ความเป็นมิตรระหว่างเราคือแรงบันดาลใจแก่ยุโรปทั้งมวล... เราไม่ปรารถนาที่จะสั่งสอน แต่เราจะเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นได้เดินตาม”
“ท่านนายกรัฐมนตรี ผมขอเป็นตัวแทนฝ่ายเราเชื้อเชิญให้เยอรมนีและฝรั่งเศสก้าวข้ามประตูบานใหม่ไปด้วยกัน ซึ่งจะทำให้มิตรภาพระหว่างเราทั้ง 2 ชาติแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม”
ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีเดินตรวจทหารกองเกียรติยศจากทั้ง 2 ชาติ ทักทายด้วยการจุมพิตที่แก้มซึ่งกันและกัน และยังเรียกอีกฝ่ายว่า “ที่รัก” (Dear) ซึ่งผิดจากการพบกันครั้งก่อนๆที่ดูเป็นทางการ และออกจะเย็นชาเสียด้วยซ้ำ
ประชาชนหลายร้อยคนเดินทางมาร่วมพิธีรำลึกที่มหาวิหารแห่งเมืองแรมส์ ซึ่งได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก และเคยถูกกองทัพเยอรมนีทิ้งระเบิดจนเสียหายอย่างหนักในสงครามโลกครั้งที่ 1
ถ้อยคำของ แมร์เคิล ออกจะตรงไปตรงมายิ่งกว่า
“ยุโรปเป็นมากกว่าสกุลเงินเดียว และความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีก็มีความสำคัญมากในประเด็นนี้ เพราะเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ถึงความเป็นเอกภาพของยุโรป” เธอกล่าว พร้อมระบุว่า ประเทศยุโรปอื่นๆก็สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมิตรภาพนี้ได้เช่นกัน อันเป็นการสนับสนุนถ้อยคำของ ออลลองด์ ที่ต้องการสานสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับอิตาลีและสเปน
“วันนี้เราจำเป็นต้องสร้างสหภาพการเงินและเศรษฐกิจในระดับการเมืองให้สำเร็จจงได้ แม้จะเป็นภารกิจที่ยากลำบาก แต่อนาคตของยุโรปขึ้นอยู่กับสิ่งนี้” แมร์เคิลกล่าว
การปรองดองระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีบรรลุผลในเชิงสัญลักษณ์เมื่อปี 1962 ในสมัยของประธานาธิบดี ชาร์ลส เดอ โกลล์ แห่งฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีคอนราด อเดเนาร์ แห่งเยอรมนี
ผู้สังเกตการณ์ต่างจับตามองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างออลลองด์ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแมร์เคิล ซึ่งมาจากฝ่ายขวาและชูนโยบายรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด จะเป็นอย่างไรต่อไป
ออลลองด์ให้สัมภาษณ์ว่า มิตรภาพระหว่างเขาและผู้นำเยอรมนีนั้นกำลังไปได้สวย
“ถึงเราจะเชื่อในธรรมเนียมการเมืองที่ต่างกัน แต่คุณแมร์เคิลและผมต่างยึดถือค่านิยมเดียวกันในเรื่องของอียู... เรามีความสัมพันธ์ที่ดี และไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามอะไรมากนัก”