xs
xsm
sm
md
lg

มหาอำนาจเห็นพ้องตั้ง "รบ.ชั่วคราวซีเรีย" แต่ไม่มีพื้นที่ให้ "อัสซาด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โคฟี อันนัน ผู้แทนพิเศษยูเอ็นและสันนิบาตอาหรับว่าด้วยกรณีซีเรีย สนทนากับ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย (ขวา) และเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คี มูน (ซ้าย)
เอเอฟพี - บรรดาชาติมหาอำนาจมีมติเห็นพ้องให้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อคลี่คลายวิกฤตการเมืองในซีเรีย วานนี้(30) โดยอาจแต่งตั้งคณะบุคคลที่อยู่ในรัฐบาลปัจจุบันก็ได้ ทว่าจะไม่เปิดทางให้ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลปรองดองชุดนี้ด้วย

รัสเซียและจีนยอมลงนามเห็นชอบในข้อตกลง โดยไม่ระบุชัดเจนว่าต้องการให้ อัสซาด สละอำนาจ ทั้งยังยืนยันว่า ชาวซีเรียควรเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะให้กระบวนการถ่ายโอนอำนาจเป็นไปในลักษณะใด มากกว่าจะให้ต่างชาติเข้าไปตัดสินชะตาของพวกเขา

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ณ นครเจนีวา บรรลุข้อตกลงสำคัญดังกล่าว ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้เข้าร่วมประชุมต่างไม่มั่นใจถึงผลของการเจรจา เนื่องจากฝ่ายจีน-รัสเซียและชาติตะวันตกยังมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับวิธีที่จะยุติเหตุนองเลือดในซีเรีย ซึ่งเมื่อวานนี้(30)ก็ได้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วอย่างน้อย 53 ศพ

แม้ผู้แทนพิเศษนานาชาติ โคฟี อันนัน จะไม่ได้ชี้ตัวบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลชั่วคราว และยกให้ทางซีเรียเป็นฝ่ายคัดเลือกบุคคลเอง แต่ก็ยังเตือนว่า "ผมไม่คิดว่าชาวซีเรียจะเลือกเอาคนที่มือเปื้อนเลือดมาเป็นผู้นำ"
ด้าน ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวอย่างชัดเจนว่า วอชิงตันไม่ปรารถนาให้ อัสซาด เข้ามามีบทบาทในรัฐบาลปรองดอง ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส โลรองต์ ฟาเบียส ก็เผยท่าทีเดียวกันว่า "เป็นที่ชัดเจนว่า อัสซาด ต้องยุติบทบาทไป"

วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ยอมรับว่า มติดังกล่าวเป็น "ข้อตกลงประนีประนอม" หลังจากรัสเซียพยายามโน้มน้าวให้ชาติต่างๆเห็นด้วยว่า การกีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้เข้าร่วมรัฐบาลชั่วคราว เป็นสิ่งที่ "รับไม่ได้"

ที่ผ่านมา รัสเซียพยายามคัดค้านการถอนถอดอำนาจของ อัสซาด มาโดยตลอด แม้ความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับดามัสกัสจะเริ่มเหินห่างก็ตาม ขณะที่หยาง เจียฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ก็ย้ำเช่นกันว่า "คนนอกไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนชาวซีเรีย"

อันนัน ซึ่งเกรงว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจะทำให้การประชุมที่นครเจนีวาล้มเหลว กล่าวเตือนก่อนเปิดประชุมว่า ผู้นำที่ไม่อาจช่วยยุติเหตุนองเลือดในซีเรียได้จะไม่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้นำที่น่าชื่นชม และการขัดแย้งกันเองยังอาจทำให้สงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตพลเมืองซีเรียไปแล้วกว่า 15,800 คนลุกลามเป็นปัญหาระดับภูมิภาค และเป็นภัยคุกคามต่อโลกในที่สุด

"ประวัติศาสตร์เป็นตัวตัดสินที่เศร้าหมอง และมันจะตัดสินเราอย่างโหดร้ายแน่นอน หากวันนี้เราไม่สามารถเดินไปในทางที่ถูกต้อง" อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ แถลงต่อสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นทั้ง 5 ชาติ ได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน, รัสเซีย และสหรัฐฯ รวมถึงผู้แทนจากกาตาร์, ตุรกี, คูเวต และอิรัก

การปะทะระหว่างฝ่ายต่อต้านกับทหารซีเรียยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับการสนับสนุนอาวุธจากต่างชาติที่หนุนหลังอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น