xs
xsm
sm
md
lg

“แมร์เคิล” แม้โดดเดี่ยวแต่ก็ไม่อ่อนข้อก่อนซัมมิตอียู พฤหัสฯ-ศุกร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ไม่มีท่าทีอ่อนข้อในประเด็นสำคัญระหว่างการประชุมสุดยอดเพื่อหาทางรักษาสกุลเงินยูโรในวันพฤหัสบดี(28)และศุกร์(29)นี้
เอเอฟพี - แม้ถูกพันธมิตรนานาประเทศโดดเดี่ยวมากขึ้น แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี มีเหตุผลมากมายที่ทำให้ไม่มีทางอ่อนข้อในประเด็นสำคัญระหว่างการประชุมสุดยอดเพื่อหาทางรักษาสกุลเงินยูโรในวันพฤหัสบดี (28) และศุกร์ (29) นี้ ไม่ว่าจะเป็นการออกยูโรบอนด์ หรือการอัดฉีดเงินโดยตรงเพื่อช่วยเหลือพวกแบงก์มีปัญหา

ภายใต้ความกดดันจากรอบด้านทั้งภายในยุโรป และนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐฯ และจีน แต่แมร์เคิลปฏิเสธที่จะก้มหัวให้ข้อเรียกร้องที่จะให้รวมเอาหนี้สินทั้งหมดของยูโรโซนเอาไว้ด้วยกันในรูปของพันธบัตรยูโรบอนด์ ตลอดจนยอมอ่อนข้อให้กองทุนฟื้นฟูของยูโรโซนเข้าอุ้มพวกแบงก์ขี้โรคในยุโรปโดยตรง

ก่อนการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (อียู) ไม่กี่วัน นายกรัฐมนตรีเยอรมนียังคงท่าทีแข็งกร้าวด้วยการวิจารณ์ว่า ยูโรบอนด์ คือ “ความผิดพลาดและผลลบต่อเศรษฐกิจ” พร้อมแสดงความกังวลว่า มีการหยิบยกแนวทางการรวมหนี้ยูโรโซนเป็นกองเดียวขึ้นมาพูดมากเกินไป

ล่าสุด เมื่อวันอังคาร (26) ขณะที่รัฐมนตรีคลังสี่ชาติชั้นนำของยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน นัดหารือกันเพื่อลดประเด็นขัดแย้งและคลี่คลายวิกฤต แมร์เคิลก็ประกาศกับสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลว่า “ตราบที่ฉันยังอยู่ ยุโรปจะไม่มีวันแบ่งปันภาระหนี้ทั้งหมด”

เบอร์ลินนั้นไม่ยินดีพิจารณาสิ่งที่แมร์เคิลระบุว่า เป็นทางออกแบบ “ผักชีโรยหน้า” สำหรับวิกฤตหนี้ เฉกเช่นการออกยูโรบอนด์ เนื่องจากเชื่อว่าไม่ได้แตะต้องปัญหาที่แท้จริง ซึ่งได้แก่การที่ชาติยูโรโซนที่มีปัญหานั้นขาดวินัยการคลัง ตลอดจนการที่อียูขาดอำนาจส่วนกลางในการกำกับตรวจสอบให้ชาติสมาชิกปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้

แมร์เคิลย้ำว่า คำตอบสำหรับวิกฤต คือ ยุโรปที่ผนึกแน่นแฟ้นขึ้น และต้องการให้ชาติสมาชิกมอบอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่บรัสเซลส์ วลีติดปากผู้นำเบอร์ลินคือ “การรับประกันและการควบคุมต้องไปด้วยกัน”

สิ่งที่ผู้นำเยอรมนีเรียกร้อง เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นการแก้ไขในระยะยาว ทว่า ตลาดการเงินที่ยังหายใจไม่ทั่วท้องในเวลานี้ต้องการคำตอบเฉพาะหน้า ในเมื่อสมาชิกอียูยังคงเรียงคิวขอรับความช่วยเหลืออยู่ไม่ขาดระยะ โดยล่าสุดคือไซปรัส ซึ่งเป็นรายที่ 5 แล้ว นอกจากนั้นตลาดยังมีความกังวลมากขึ้นว่า ในที่สุดแล้ว กองทุนฟื้นฟูยูโรโซนอาจจะมีทรัพยากรไม่เพียงพอ

เจนนิเฟอร์ แมกคีโอน นักวิเคราะห์ของแคปิตอล อิโคโนมิกส์ มองว่าเยอรมนีจะยังคงคัดค้านการร่วมอัดฉีดให้แก่รัฐบาลที่มีปัญหาหรือการเพิ่มทุนธนาคาร เว้นแต่จะสามารถเข้าควบคุมนโยบายการคลังและการธนาคารของประเทศอื่นๆ ได้ ขณะที่ฝรั่งเศสและอิตาลีสนับสนุนการเดินเกมเร็วในการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน อีกทั้งไม่ยินยอมพร้อมใจมอบอธิปไตยให้เยอรมนี

แมกคีโอนสำทับว่า ความหวังที่จะเห็นวิธีแก้ปัญหาที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวจากซัมมิตอียูปลายสัปดาห์นี้ริบหรี่มาก เว้นแต่เยอรมนีหรือฝั่งอิตาลี-ฝรั่งเศสจะเปลี่ยนใจเท่านั้น

นักการเมืองยุโรปต่างฝากความหวังครั้งสุดท้ายก่อนที่ซัมมิตจะเริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสฯ (28) ไว้กับดินเนอร์ระหว่างแมร์เคิลกับฟรังซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในค่ำคืนวันพุธ

ทั้งนี้มีแนวโน้มว่า ผู้นำอียูจะเห็นพ้องใน “ข้อตกลงสร้างความเจริญเติบโต” ด้วยมาตรการสร้างงานมูลค่าราว 130,000 ล้านยูโร รวมทั้งแผนเพิ่มความแน่นแฟ้นของสหภาพที่สุดท้ายจะจบลงด้วยการที่สมาชิกยูโรโซนส่งมอบอธิปไตยด้านงบประมาณของประเทศให้แก่อียู

คาร์สเทน บีเซสกี นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจี แบงก์ในบรัสเซลส์ มองว่าเบอร์ลินจะไม่ยอมลงนามในข้อตกลงเพื่อร่วมรับผิดชอบหนี้ จนกว่าสหภาพการคลังและการเมืองจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น อย่างน้อยก็ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโร เหตุผลไม่ได้เป็นเพราะเยอรมนีไม่คิดปกป้องยูโรโซน เพียงแต่เบอร์ลินยึดมั่นในหลักการของตนเองอย่างเหนียวแน่น

โฮลเกอร์ ชมิดดิง จากเบอเรนเบิร์ก แบงก์ ชี้เหตุผลอีกข้อที่ทำให้แมร์เคิลยอมหักแต่ไม่ยอมงอคือ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีที่แสดงความกังวลมากขึ้นกับการถ่ายโอนอำนาจให้อียู อีกทั้งอียูบอนด์ยังน่าจะเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญเมืองเบียร์

สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนแมร์เคิลจะเป็นฝ่ายกำชัย โดยประเด็นยูโรบอนด์และการปล่อยกู้โดยตรงแก่แบงก์ไม่มีการหยิบยกขึ้นหารือระหว่างการประชุมขุนคลัง 4 ชาติเมื่อวันอังคาร

แม้แต่นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ประเทศที่เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันยูโรบอนด์ ยังยอมรับระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การผนึกรวมความรับผิดชอบต่อหนี้ต้องมีสหภาพการเมืองรองรับ ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลาอีกหลายปี

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์บิลด์ ของเยอรมนีซึ่งมียอดผู้อ่านมากที่สุดในยุโรป ยังระบุเหตุผลสำคัญอีกข้อที่ทำให้แมร์เคิลไม่มีแนวโน้มอ้าแขนรับยูโรบอนด์ นั่นคือหนี้สาธารณะของเยอรมนีเอง ที่ล่าสุดมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านยูโร
กำลังโหลดความคิดเห็น