เอเจนซีส์ - ความตึงเครียดในยูโรโซนปะทุขึ้นอีกครั้ง ภายหลังที่การประชุมซัมมิตไม่เป็นทางการของสหภาพยุโรป(อียู) ในวันพุธ(23) แสดงให้เห็นถึงความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับวิธีการแก้ไขวิกฤตของทวีปนี้ เมื่อประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนใหม่ ชูนโยบายกระตุ้นการเติบโต-ยูโรบอนด์ โดยไม่สนว่าขัดอกขัดใจนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ขณะเดียวกันแม้บรรดาผู้นำยุโรปยืนยันต้องการให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อไป แต่ก็ยืนกรานว่าประเทศนี้ต้องเดินหน้ามาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้นก็มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่อาวุโสเตรียมแผนฉุกเฉินกรณีเอเธนส์ตัดสินใจทิ้งระบบเงินสกุลเดียว
หลังจากหารือระหว่างงานเลี้ยงอาหารค่ำซึ่งถือเป็นการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันพุธ (23) ผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศว่า ยังมุ่งมั่นให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อไป ทว่า กรีซต้องยึดมั่นมาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่สัญญาไว้
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อียูมากกว่า 1 คนเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ระหว่างการประชุมทางไกลของยูโรกรุ๊ป เวิร์กกิ้ง กรุ๊ป (อีดับเบิลยูจี) หรือคณะผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานให้รัฐมนตรีคลังยูโรโซนเมื่อวันจันทร์ (21) ได้มีการตกลงเตรียมแผนฉุกเฉินรองรับหากกรีซตัดสินใจถอนตัวจากระบบเงินสกุลเดียว
ในอีกด้านหนึ่ง รายงานประจำเดือนของบุนเดสแบงก์หรือธนาคารกลางเยอรมนี ก็มีการระบุว่าสถานการณ์ของกรีซน่าเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปตามที่สัญญาไว้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อขอความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม ขณะที่ถ้ากรีซออกจากยูโรโซนแม้สร้างความท้าทายใหญ่หลวง แต่สำหรับพันธมิตรยุโรปก็อยู่ในขั้นรับมือได้
เจ้าหน้าที่ของกรีซนั้นระบุว่า หากไม่ได้เงินอัดฉีดจากภายนอก ประเทศจะถังแตกภายใน 2 เดือน และหากกรีซออกจากยูโร สมาชิกอื่นๆ จะถูกฉุดลงเหวไปด้วย
เอกสารที่รอยเตอร์ได้รับมาแจกแจงต้นทุนของแต่ละประเทศกรณีที่เอเธนส์ออกจากยูโรโซน พร้อมระบุว่า หาก “จากกันฉันมิตร” กรีซอาจได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 ล้านยูโรจากอียูและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) สำหรับช่วงระยะผ่าน
แม้ความคิดของผู้นำอียูเอนเอียงไปที่แนวโน้มดังกล่าว แต่สำหรับประเด็นการออกพันธบัตรของทั่วทั้งยูโรโซน หรือ ยูโรบอนด์ ตลอดจนมาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาวิกฤตหนี้ที่เรื้อรังมา 2 ปี เป็นต้นว่า ขยายเวลาให้บางประเทศอย่างสเปน ในการลดการขาดดุลงบประมาณ กลับไม่สามารถตกลงกันไม่ได้
ครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีที่ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีไม่มีการนัดหมายตกลงกันก่อน แต่ ประธานาธิบดี ฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส กลับพบกับนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราโคย แห่งสเปน ที่ไปเยือนถึงปารีส ก่อนนั่งรถไฟไปบรัสเซลส์ด้วยกัน
ชัยชนะในการเลือกตั้งของออลลองด์ ผู้นำจากพรรคโซเชียลลิสต์ ทำให้การถกเถียงในยุโรปเปลี่ยนขั้วมาเน้นย้ำการเติบโตมากกว่าการลดหนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการท้าทายโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี อังเงลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ที่ชูเป้าหมายหลักที่มาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปเศรษฐกิจ
ในการร่วมประชุมสุดยอดครั้งแรกของเขาคราวนี้ ออลลองด์ได้ผลักดันสนับสนุนการออกยูโรบอนด์ หรือตราสารหนี้รวมของยูโรโซน แม้เบอร์ลินคัดค้าน ภายหลังการประชุม ผู้นำเมืองน้ำหอมกล่าวว่า ต้องการให้ประเด็นยูโรบอนด์บรรจุอยู่ในวาระการหารือของอียู เนื่องจากจะช่วยให้สมาชิกสามารถเข้าถึงตลาดเงินทุนได้ง่ายขึ้น ช่วยให้รัฐบาลมีทุนในการสร้างงานในระยะสั้นและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งชำระหนี้
“ประเทศส่วนใหญ่บอกว่าเห็นด้วยกับยูโรบอนด์ แม้แต่ประเทศที่ไม่ได้อยู่ในยูโรโซนอย่างอังกฤษ" มาริโอ มอนติ ผู้นำอิตาลีขานรับ
กระนั้น แมร์เคิลก็ไม่มีทีท่าลดลาราศอก แต่ยืนยันว่าควรหารือเรื่องยูโรบอนด์เมื่อสหภาพการเงินยุโรปใกล้ความจริงมากกว่านี้ โดยที่เธอได้รับการหนุนหลังจากเนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และสมาชิกประเทศเล็กๆ ในยูโรโซน
เบอร์ลินนั้นกลัวว่ายูโรบอนด์จะส่งผลให้ผู้เสียภาษีเยอรมันต้องรับภาระแทนประเทศที่อ่อนแอในยูโรโซนถาวร
เฮอร์แมน ฟาน รอมปุย ประธานอียู เผยว่า ประเด็นนี้มีการพูดถึงสั้นๆ โดยผู้นำหลายคนและในกรอบโครงสหภาพการเงินและเศรษฐกิจที่มีมิติลึก แต่ไม่มีใครเสนอเป็นวาระด่วน
ทว่า ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานรัฐมนตรีคลังยูโรกรุ๊ปและนายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์ก กลับกล่าวว่า “ประเด็นยูโรบอนด์กลับสู่โต๊ะประชุมแล้ว” และแหล่งข่าวในคณะกรรมาธิการยุโรปสำทับว่า ข้อห้ามที่รายล้อมยูโรบอนด์ถูกขจัดไปเรียบร้อย
การหารือโดยรวมค่อนข้างปีนเกลียว ไม่เพียงเรื่องยูโรบอนด์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีช่วยเหลือแบงก์ที่มีปัญหา และการขยายเวลาในการบรรลุเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณสำหรับบางประเทศ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตัดสินใจประเด็นสำคัญในซัมมิตครั้งนี้ ที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนแนวคิดเกี่ยวกับการจ้างงานและการเติบโตก่อนการประชุมซัมมิตอียูอย่างเป็นทางการในปลายเดือนหน้า