xs
xsm
sm
md
lg

ข้อตกลงซัมมิต EU แก้วิกฤตยูโรหลายประเด็น-แต่ยังขาดรายละเอียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์ เคิล ของเยอรมนี กำลังออกจากที่ประชุม ภายหลังการเจรจาต่อรองกับเหล่าผู้นำของสหภาพยุโรป(อียู) จนดึกดื่นเมื่อคืนวันศุกร์(29 มิ.ย.)ที่ผ่านมา โดยที่ในที่สุดแล้วที่ประชุมซัมมิตคราวนี้ก็สามารถตกลงกันเกี่ยวกับมาตรการปกป้องสกุลเงินยูโรได้หลายประการ แม้ยังคงถูกท้วงติงว่ายังมีรายละเอียดอีกมากที่จะต้องสรุปกันให้ได้ต่อไป
เอเอฟพี - นักเศรษฐศาสตร์และผู้นำนอกอียู พากันยกย่องข้อตกลงจากการประชุมซัมมิตอียูในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ว่าเป็น “พัฒนาการสำคัญ” ในความพยายามเพื่อปกป้องสกุลเงินยูโร กระนั้นยังมีรายละเอียดมากมายที่ขาดหายไป โดยเฉพาะในประเด็นกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป

ข้อตกลงภายหลังการหารือเครียดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างเหล่าผู้นำยูโรโซน นอกจากเกินความคาดหวังของตลาดแล้ว ยังช่วยฟื้นความเชื่อมั่นที่มีต่อเงินตราสกุลเดียวแห่งยุโรป และบรรเทาวิกฤตในอิตาลีและสเปนอย่างรวดเร็วทันใจ

เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) ยกย่องว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นพัฒนาการยิ่งใหญ่ในความพยายามเพื่อป้องกันวิกฤตในอนาคต หลังจากสมาชิก 17 ชาติยูโรโซนเห็นพ้องให้กลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (อีเอสเอ็ม) อัดฉีดเพื่อเพิ่มทุนแบงก์ที่มีปัญหาโดยตรง ไม่ต้องผ่านงบประมาณของประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของธนาคารดังกล่าว อันจะทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ของหนี้สินภาคสาธารณะ

ประเทศผู้ได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้มากที่สุด คือ สเปนที่ขอกู้เงิน 100,000 ล้านยูโรเพื่อเพิ่มทุนแบงก์ และอาจจะรวมถึงไอร์แลนด์ที่งบดุลของรัฐบาลติดลบอย่างหนักจากการเข้าอุ้มแบงก์

ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์หลายคนชี้ว่า จากข้อตกลงคราวนี้จะทำให้ดับลินลดภาระหนี้สินที่ต้องแบก และได้รับความเชื่อถือในเรื่องฐานะการเงินมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งอาจสามารถนำเอาพันธบัตรออกมาขายในตลาดได้ใหม่อีกครั้งในปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นการแสดงให้พันธมิตรอียูรวมถึงทั่วโลกเห็นว่า ปัญหาของสมาชิกยูโรโซนชาติหนึ่งที่เคยขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉินนั้น ได้รับการสะสางแล้ว

ที่ประชุมซัมมิตคราวนี้ยังอนุญาตให้อีเอสเอ็มเข้าซื้อพันธบัตรจากประเทศยูโรโซนโดยตรง ก่อนที่ประเทศเหล่านั้นจะต้องขอความช่วยเหลือเนื่องจากมีต้นทุนการกู้ยืมสูงมาก
ถึงแม้เงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ยังจะต้องอภิปรายถกเถียงกันต่อไปอีกภายหลังซัมมิต แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของอียูยังคาดหวังว่า เพียงมีข้อตกลงเช่นนี้ก็อาจทำให้นักลงทุนกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง โดยที่ประเทศเหล่านั้นไม่ต้องขอความช่วยเหลือจริงๆ จากอีเอสเอ็ม
กระนั้นก็ตามที ก่อนอื่นเลยพวกประเทศสมาชิกต้องให้สัตยาบันรับรองอีเอสเอ็มก่อน และมาตรการใหม่เหล่านี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากมีการตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการธนาคารภายใต้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ในบรรดารายละเอียดที่ยังต้องหารือต่อไปคือ หน่วยงานนี้จะมีอำนาจควบคุมสถาบันขนาดเล็กกว่า เช่น ธนาคารระดับภูมิภาคของรัฐบาลเยอรมนีมากน้อยแค่ไหน หรือจะดำเนินการกับแบงก์ใหญ่นอกยูโรโซน เช่น ศูนย์กลางการเงินยุโรปในลอนดอนอย่างไร

ขณะเดียวกัน ในการประชุมคราวนี้ ผู้นำยูโรโซนยังเห็นพ้องอัดฉีดเงิน 120,000 ล้านยูโรเพื่อกระตุ้นการเติบโตและการจ้างงาน รวมทั้งเปิดตัวโครงการนำร่อง “พันธบัตรโครงการ”
นักเศรษฐศาสตร์ยินดีกับความเคลื่อนไหวเหล่านี้ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า มูลค่าสุดท้ายของอีเอสเอ็มคือ 400,000 ล้านยูโร (หลังปล่อยกู้ให้สเปน) นั้นคิดเป็นเพียง 15% ของมูลค่าตลาดพันธบัตรสเปนและอิตาลีเท่านั้น ดังนั้น อีซีบีต้องเตรียมตัวให้พร้อมหากกองทุนของอีเอสเอ็มร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว กรณีที่ตลาดเกิดต้องการท้าทายแผนการล่าสุดของยูโรโซน
อีกคำถามหนึ่งคือขอบเขตการกำกับตรวจสอบที่จะใช้บังคับนโยบายการคลังของประเทศที่รับความช่วยเหลือจากอีเอสเอ็ม ด้วยวิธีการขายพันธบัตรรัฐบาลให้แก่กลไกนี้

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวว่า เบอร์ลินยึดมั่นกับหลักการแห่ง “การให้, การรับผลตอบแทนกลับคืน, การกำหนดเงื่อนไข และการธำรงการควบคุมเอาไว้” โดยที่มีรายงว่าฝ่ายฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์สนับสนุนขันแข็งกับ “การกำหนดเงื่อนไข” อย่างเข้มงวดเช่นนี้
ทว่าด้านนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติของอิตาลี ประกาศชัดเจนว่า คาดหวังว่าเงื่อนไขต่างๆ ในการรับความช่วยเหลือจากกลไกอีเอสเอ็ม จะเป็นแรงกดดันที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับเงื่อนไขซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กำหนดกับประเทศขอกู้ฉุกเฉินอย่างกรีซ, ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งค้างคาอยู่ก็คือ เรื่องเค้าโครงสหภาพการธนาคาร โดยที่ยุโรปยังจะต้องถกเถียงกันต่อไป และคาดกันว่าคงจะไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการดำเนินแผนการนี้ก่อนสิ้นปีนี้

ภายหลังซัมมิตคราวนี้ คริสเตียน ชูลซ์ นักเศรษฐศาสตร์ของเบอเรนเบิร์ก แบงก์ ได้แสดงความชื่นชมแมร์เคิล ที่สามารถเปลี่ยนการหารือประเด็นสหภาพการธนาคารให้กลายเป็นการตัดสินใจยอมให้อีซีบีเป็นผู้กำหนดกฎต่างๆ เขาชี้ว่าแมร์เคิลยอมรับการให้อีเอสเอ็มเข้าช่วยเหลือแบงก์สเปน แลกกับการยุติข้อเรียกร้องสำคัญของฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ทั้งในประเด็นยูโรบอนด์ ยูโรบิลส์ และกองทุนไถ่ถอนพันธบัตรร่วมในยูโรโซน

ขณะเดียวกัน กิลส์ เม็ก นักเศรษฐศาสตร์ของดอยช์แบงก์ ตั้งข้อสังเกตว่า เหล่าผู้นำอียูพูดถึง “โรดแมป” สหภาพเศรษฐกิจน้อยมาก

ขณะที่ โฮเวิร์ด อาร์เชอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอสเอส โกลบัล อินไซต์ เตือนว่า ประชาชนในแต่ละประเทศอาจไม่พอใจที่รัฐบาลของยูโรโซน กำลังยอมมอบอำนาจอธิปไตยโดยเฉพาะด้านการคลังให้แก่บรัสเซลส์มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น