xs
xsm
sm
md
lg

ทั่วโลกจับตาซัมมิตอียูปลายสัปดาห์นี้ คาดเสนอตั้งสหภาพการธนาคารยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากการเจรจาระหว่างผู้นำ 4 ชาติเศรษฐกิจชั้นนำของยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22) จากซ้าย นายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฮอย แห่งสเปน, ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส, นายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ แห่งอิตาลี, และนายกรัฐมนตรี อังเงลา แมร์เคิล ของเยอรมนี
เอเอฟพี - ทั่วโลกลุ้นซัมมิตยุโรปปลายสัปดาห์นี้ เพื่อหาวิธีป้องกันการล่มสลายทางเศรษฐกิจที่จะถือเป็นวิกฤตแห่งศตวรรษ คาดข้อเสนอแรกคือการก่อตั้งสหภาพการธนาคารปูทางสู่การรวมตัวด้านการเงินและการเมืองอย่างสมบูรณ์ในอนาคต อย่างไรก็ดี ไฮไลต์สำคัญจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันจันทร์ (25) ที่สเปนจะขอเงินเพิ่มทุนแบงก์อย่างเป็นทางการ และ “ทรอยกา” ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความคืบหน้าในการปฏิรูปของกรีซ

เมื่อหลายเดือนก่อน เฮอร์มาน ฟาน รอมปุย ประธานสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งข้อสังเกตแบบไม่มีสคริปต์ว่า ยูโรโซน “หลังชนฝาอยู่บนขอบหน้าผาแถมมีมีดจ่อคอหอย”

ข้อสังเกตดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่วิกฤตหนี้สาธารณะที่ยืดเยื้อมา 2 ปีทำท่าจะลามถึงประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 และ 4 ของยูโรโซนคือ กรีซและสเปน หลังจากบีบให้กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสต้องขอรับความช่วยเหลือไปแล้ว

อีฟส์ ไทเบอร์เกน จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ชี้ว่าการล่มสลายของยูโรโซนจะถือเป็นวิกฤตแห่งศตวรรษ และสิ่งที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนก็คือ ระบบเงินตราสกุลเดียวแห่งยุโรปที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วนั้นขาดความสมบูรณ์และประสิทธิภาพ เนื่องจากสหภาพการเงินนี้ขาดสหภาพการธนาคาร การคลัง และการเมือง มารองรับ

ในการประชุมสุดยอดอียูวันพฤหัสบดี (28) และวันศุกร์ (29) นี้ที่บรัสเซลส์ ฟาน รอมปุย ผู้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีเบลเยียม จะพยายามนำยูโรโซนไปสู่เส้นทางดังกล่าว

ระหว่างการประชุมซัมมิตของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี-20) สัปดาห์ที่แล้ว ประธานอียูผู้นี้บอกกับบรรดาผู้นำคนอื่นๆของ จี-20 ว่า เขาจะเสนอสิ่งจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ที่จะต้องใช้เพื่อประสานเศรษฐกิจและการเงินในมิติลึกขึ้น และแสดงให้โลกและตลาดเห็นว่า ยูโรและยูโรโซนเป็นโปรเจ็กต์ที่ไม่มีการถอยหลังกลับ โดยสิ่งแรกที่จะทำคือ กระตุ้นการเติบโตและประสานภาคการธนาคารของยุโรปเข้าด้วยกัน

ต่อมาในการเจรจาระหว่างผู้นำ 4 ชาติเศรษฐกิจชั้นนำของยูโรโซน ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22) ได้มีการตกลงอัดฉีดเงิน 130,000 ล้านยูโร (163,000 ล้านดอลลาร์) หรือ 1% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยุโรป เข้าในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่จะสามารถสร้างงาน ในห้วงเวลาที่หนุ่มสาว 1 ใน 4 ในบางประเทศยูโรโซนไม่มีงานทำ

นายกรัฐมนตรีอังเงลา แมร์เคิลของเยอรมนี กล่าวว่าบทเรียนจากวิกฤตปัจจุบันบ่งชี้ว่า “ต้องเป็นยุโรปให้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นยุโรปให้น้อยลง”

คำพูดของเธอหมายความว่า ยุโรป โดยเฉพาะยูโรโซนต้องเดินหน้าในการรวมตัวกันให้มากขึ้น ไม่ใช่ถอยห่างออกจากกัน อย่างไรก็ดี ในขณะที่เยอรมนีนิยมชมชื่นการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของยุโรป ในรูปของการมีนโยบายร่วมด้านภาษีและด้านงบประมาณรายจ่าย แต่เบอร์ลินก็ยังรังเกียจต้องไม่ต้องการให้ออกยูโรบอนด์ ซึ่งก็คือตราสารหนี้ที่ทั้งยูโรโซนต้องร่วมรับผิดชอบ ต่างจากฝรั่งเศสที่ผลักดันเรื่องหนี้ร่วมนี้อย่างแข็งขัน

สำหรับซัมมิตปลายสัปดาห์นี้คาดว่าแผนการแรกของฟาน รอมปุยจะเป็นข้อเสนอก่อตั้งสหภาพการธนาคาร ถ้าสามารถหาทางไกล่เกลี่ยเรื่องบทบาทของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ โดยจะมีการแถลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาและปัญหาเชิงสถาบัน เช่น การแก้ไขสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง ปลายปีนี้

ทั้งนี้เห็นกันว่า ประเด็นเกี่ยวกับสหภาพการธนาคารซึ่งน่าจะได้รับความเห็นชอบ ได้แก่ ความเคลื่อนไหวในการรับประกันเงินฝากทั่วยุโรป และการมีหน่วยงานส่วนกลางที่รับผิดชอบการปิดแบงก์เน่าในยุโรป มาตรการเช่นนี้น่าจะกระตุ้นความเชื่อมั่นและการไหลเวียนของกระแสเงินสด

ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ พยายามย้ำเตือนความสำคัญของซัมมิตอียูปลายสัปดาห์นี้ด้วยการกล่าวระหว่างประชุมจี20 สัปดาห์ที่แล้วว่า ตนเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้ ยุโรปจะมีภาพจุดหมายปลายทางที่จะต้องไปให้ถึง

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ช่วยกดดันอีกแรงด้วยการกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นและมีพลังสู่สหภาพการเงินยุโรปที่สมบูรณ์ควรได้รับการตอกย้ำเพื่อฟื้นศรัทธาในระบบดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟกำลังโน้มน้าวให้แมร์เคิลที่ยังลังเล อนุญาตให้กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) ปล่อยกู้แก่ระบบการธนาคารที่มีปัญหาของสเปนโดยตรงแทนที่จะปล่อยให้ทางการมาดริด เพื่อยุติวงจรอุบาทว์ที่รัฐบาลที่มีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นถูกบีบให้เข้าช่วยแบงก์ท้องถิ่น ส่งผลให้หนี้ของทุกสถาบันพุ่งทะยาน

สเปนนั้นเตรียมขอเงินกู้จากยูโรโซนอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (25) เพื่อนำไปเพิ่มทุนแบงก์

วันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากไอเอ็มเอฟ อีซีบี และคณะกรรมาธิการยุโรปจะเดินทางสู่เอเธนส์ เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าในการปฏิรูปตามเงื่อนไขเงินกู้ 130,000 ล้านยูโร โดยที่รัฐบาลใหม่ที่ตั้งขึ้นสัปดาห์ที่แล้วจากการรวมตัวของพรรคอนุรักษนิยม สังคมนิยม และซ้ายกลาง ต้องการปรับเงื่อนไขของมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อฟื้นการเติบโตของกรีซ
กำลังโหลดความคิดเห็น