xs
xsm
sm
md
lg

จีนทะยานขึ้นสู่ความเป็นเจ้าอวกาศ(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China floats towards space dominance
By Brendan O'Reilly
18/06/2012

ความสำเร็จของจีนในการนำยานอวกาศ “เสินโจว-9” ที่มีมนุษย์เป็นผู้บังคับควบคุม เข้าเชื่อมต่อกับห้องแล็ปอวกาศ “เทียนกง-1” เมื่อวันจันทร์(18 มิ.ย.)ที่ผ่านมา ต้องถือเป็นหลักหมายของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวยักษ์ ในแผนการมุ่งไปสู่การก่อตั้งสถานีอวกาศของจีนเองขึ้นมาภายในปี 2020 ทั้งนี้ในปีเดียวกันนั้น สถานีอวกาศระหว่างประเทศ (ไอเอสเอส) ที่เกิดจากความร่วมมือของสหรัฐฯ, รัสเซีย, และชาติอื่นๆ น่าที่จะถูกปลดเกษียณหมดอายุการใช้งาน ในขณะที่จีนกำลังมองเขม้นไปที่เกียรติยศของการที่จะได้กลายเป็นตัวแทนมนุษยชาติแต่เพียงผู้เดียวในอวกาศในช่วงหลังปี 2020 ปักกิ่งย่อมสามารถที่จะวาดหวังผลกำไรทั้งทางวิทยาศาสตร์, การเงิน, และการทหาร จากโครงการอวกาศของตนที่กำลังขยายตัวไปเรื่อยๆ ขณะที่ความพยายามในเรื่องนี้ของชาติอื่นๆ ล้วนแต่กำลังหดตัวลงมา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**ผลประโยชน์จากอวกาศ**

คณะผู้นำจีนคาดหมายว่า การที่แดนมังกรกำลังขยายการลงทุนในเทคโนโลยีอวกาศดังที่กระทำอยู่นี้ น่าจะได้ผลประโยชน์อย่างน้อยที่สุดใน 4 ด้านสำคัญๆ

ด้านแรก การปรากฏตัวในวงโคจรรอบโลก เป็นสมรรถนะที่สำคัญมากในทางทหาร สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะที่เป็นชาติสมาชิกรายหนึ่งของคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อวกาศอย่างสันติ (United Nations Committee on the Peaceful Uses of Outer Space) และเป็นผู้ร่วมลงนามรายหนึ่งในสนธิสัญญาอวกาศ (Outer Space Treaty) ย่อมมีพันธะผูกพันที่จะต้องไม่นำอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นไปในอวกาศ อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาอวกาศไม่ได้มีข้อห้ามไม่ให้ติดตั้งประจำการพวกอาวุธตามแบบแผน (conventional weapons) ในอวกาศ เมื่อปี 2007 จีนเคยดำเนินการทดสอบยิงขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม ซึ่งไม่ได้เป็นอาวุธนิวเคลียร์ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ จีนนั้นแสดงเจตนารมณ์อันชัดเจนว่าต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศขึ้นมา แต่ถ้าหากรัฐบาลจีนรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามจริงๆ แล้ว โครงการอวกาศของจีนก็ย่อมสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในทางทหารได้

จีนก็เฉกเช่นเดียวกับรัสเซีย กำลังมีความกังวลมากเป็นพิเศษในเรื่องที่สหรัฐฯกำลังใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องไม่ยอมหยุด เพื่อติดตั้งประจำการสมรรถนะในด้านการต่อต้านขีปนาวุธนำวิถี (anti-ballistic missile capabilities) แดนมังกรนั้นมีขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปอยู่ในครอบครอง เป็นจำนวนน้อยกว่ามหาอำนาจรายสำคัญอื่นๆ อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ ระบบป้องกันขีปนาวุธที่สหรัฐฯกำลังขะมักเขม้นในการวิจัยพัฒนาและติดตั้ง จึงถือเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจในการป้องปรามทางนิวเคลียร์ยุทธศาสตร์ (strategic nuclear deterrence) ของจีน การมีสมรรถนะทางทหารประจำอยู่ในวงโคจรระดับต่ำรอบโลก (Low Earth Orbit) จึงอาจใช้มาเป็นมาตรการตอบโต้กับระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯได้

ด้านที่สอง การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นแรงจูงใจอันสำคัญยิ่งประการหนึ่งสำหรับโครงการอวกาศที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องของประเทศจีน ตลอดจนในการสร้างสถานีอวกาศขึ้นมาตามที่จีนวางแผนเอาไว้ ถ้าหากสามารถตั้งสถานีอวกาศ อันหมายถึงการมีมนุษย์ปรากฏตัวอย่างถาวรในวงโคจรระดับต่ำรอบโลก เหล่านักวิทยาศาสตร์จีนก็ย่อมสามารถเข้าถึงเงื่อนไขไร้น้ำหนัก (weightless conditions) เพื่อใช้ในการวิจัยทางชีวภาพและทางเคมีได้เป็นประจำ ยิ่งกว่านั้น ความสามารถเช่นนี้ยังจะสร้างโอกาสในการทำการสังเกตการณ์จักรวาลอันไกลโพ้น จากจุดที่มีระยะทางห่างโลก และในแบบที่ไม่ต้องผ่านตัวกลางที่อาจเป็นอุปสรรคขัดขวาง

ด้านที่สาม โครงการอวกาศของจีน (เหมือนๆ กับนโยบายจำนวนมากในปัจจุบันของประเทศจีน) ได้แรงขับดันจากแรงจูงใจทางเศรษฐกิจด้วย ศักยภาพทางเศรษฐกิจของอวกาศ ชนิดที่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้กันเลยนั้นมีอยู่อย่างมากมายมหาศาล และศักยภาพดังกล่าวนี้ก็กำลังได้รับความสนใจจากฝ่ายต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เที่ยวเดินทางอวกาศเชิงพาณิชย์กำลังกลายเป็นความจริงไปเรียบร้อยแล้ว ในเดือนเมษายนปีนี้เอง พวกผู้บริหารของกูเกิล ซึ่งต่างเป็นอภิมหาเศรษฐีร่ำรวยเกินหลักพันล้านดอลลาร์ กับ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทแพลเนตารี รีซอร์สเซส อิงค์ (Planetary Resources Inc) ขึ้นมา บริษัทใหม่เอี่ยมแห่งนี้ประกาศภารกิจของตนเอาไว้ว่า เพื่อขุดสกัดแร่ธาตุจากดาวเคราะห์น้อย และ “เพิ่มเม็ดเงินเป็นหลายล้านล้านดอลลาร์ให้แก่จีดีพีของโลก” [5]

ผลการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ขององค์การการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (US National Aeronautics and Space Administration หรือ NASA) ค้นพบว่า เงินลงทุนจำนวน 2,600 ล้านดอลลาร์ ก็น่าจะเพียงพอแก่การสร้างยานอวกาศหุ่นยนต์ที่ “จับ” ดาวเคราะห์น้อยขนาด 500 ตันได้ และจากนั้นก็เคลื่อนย้ายมันไปที่วงโคจรรอบดาวจันทร์ แต่จะต้องทุ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นอีกสำหรับการทำเหมืองเพื่อขุดสกัดแร่ธาตุจากดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว และสำหรับการขนส่งแร่ธาตุกลับมายังโลก โครงการเช่นนี้สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปีโดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

แพลเนตารี รีซอร์สเซส อิงค์ อาจจะมีความฝัน และนาซาอาจจะมีผลงานการวิจัย แต่จีนก็เป็นฝ่ายที่มีเงินสด รัฐวิสาหกิจของจีนบางแห่งในเวลานี้กำลังนั่งทับบนกองเงินทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนรัฐบาลจีนเองก็มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในมือราวๆ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ยิ่งกว่านั้น เศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขยายตัวของแดนมังกร กำลังพึ่งพาอาศัยแร่ธาตุที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก จีนจึงอาจจะกลายเป็นเพียงประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่มีทั้งเทคโนโลยี, ทรัพยากรทางการเงิน, และเจตนารมณ์ทางการเมือง ที่จะทำการลงทุนอันมีความเสี่ยงสูง (แต่ก็มีโอกาสทำกำไรได้สูงเช่นเดียวกัน) ในโครงการทำเหมืองในอวกาศ

ด้านสุดท้ายและบางทีอาจจะเป็นด้านที่สำคัญที่สุด โครงการอวกาศนั้นมีคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญมาก ขณะที่สหรัฐฯลดทอนโครงการอวกาศประเภทดำเนินการโดยมนุษย์ของตนเองลง และสถานีอวกาศไอเอสเอสก็กำลังล้าสมัยไปทุกที จีนอาจจะกลายเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังเหลืออยู่ของโลกที่จะมีมนุษย์ไปปรากฏตัวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในอวกาศ ถึงแม้ในการแข่งขันด้านอวกาศในปัจจุบัน แดนมังกรอยู่ในอันดับ 3 ชนิดที่ถูกทิ้งห่างจากรัสเซียและสหรัฐฯ แต่การที่จีนสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้ด้วยตนเองอย่างเป็นอิสระ ก็ได้สร้างความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ให้แก่ประชาชนในชาติ

วิธีการที่จีนตั้งชื่อทรัพย์สินทางอากาศของตน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาจากมิติด้านความเป็นสัญลักษณ์ของโครงการอวกาศของแดนมังกร ในตอนที่โครงการอวกาศของจีนเริ่มต้นถือกำเนิดขึ้นมาในยุคสมัยของเหมา เจ๋อตง จรวดขนส่งที่ใช้ในการส่งยาน ถูกขนานนามว่า “ฉางเจิง” (Long March การเดินทัพทางไกล) ตามชื่อของเหตุการณ์อันสำคัญยิ่งในมายาคติยุคปฏิวัติของจีน แต่ในโครงการอวกาศจีนช่วงสมัยปัจจุบัน ตราประทับยุคปฏิวัติได้ถูกแทนที่ด้วยตราประทับแห่งเทพนิยายลี้ลับยุคโบราณ

ยานอวกาศรุ่นปัจจุบัน ได้รับการขนานนามว่า “เสินโจว” ซึ่งพอจะแปลอย่างคร่าวๆ ได้ว่า “เรือเทพเจ้า” นอกจากนั้น “เสินโจว” ยังเป็นคำพ้องเสียงกับชื่อแบบกวีโบราณเก่าแก่ที่ใช้หมายถึงจีนเองอีกด้วย ขณะที่ยานโคจรรอบดาวจันทร์ลำแรกของจีนใช้ชื่อว่า “ฉางเอ๋อ-1” ก็เป็นการตั้งชื่อตามนามของเทพธิดาบนดวงจันทร์ในเทพนิยายของจีน และสุดท้าย เทียนกง-1 โมดูลห้องทดลองอวกาศของจีนที่กำลังโคจรรอบโลกอยู่ในเวลานี้ เป็นชื่อที่หมายถึง “วิมานสวรรค์”

เวลานี้กองทัพปลดแอกประชาชนจีน กำลังออกมาร้องขอคำแนะนำข้อเสนอแนะจากพลเมือง ในเรื่องชื่อของสถานีอวกาศที่วางแผนจะสร้างขึ้นมา หวัง เหวินเปา (Wang Wenbao) ผู้อำนวยการของสำนักวิศวกรรมอวกาศประเภทดำเนินการโดยมนุษย์แห่งประเทศจีน บอกว่า “สถานีอวกาศในอนาคตแห่งนี้ ควรที่จะมีชื่อเรียกขานที่มีพลังและส่งเสริมให้กำลังใจ ... เวลานี้พวกเรารู้สึกว่าควรให้สาธารณชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตั้งชื่อต่างๆ และการกำหนดสัญลักษณ์ต่างๆ เนื่องจากโครงการที่สำคัญมากโครงการนี้จะส่งเสริมเพิ่มพูนเกียรติภูมิของประเทศชาติ และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความสำนึกในเรื่องการเกาะเกี่ยวรวมตัวกันในชาติและความภาคภูมิใจในชาติ” [6]

การปรับเปลี่ยนจากชื่อแบบปฏิวัติ มาเป็นชื่อแบบเทพนิยายลี้ลับ คือนโยบายที่ผ่านการขบคิดพิจารณามาแล้ว ในอันที่จะทำให้โครงการอวกาศของจีนมีมนตร์เสน่ห์ดึงดูดผู้คนวงกว้างได้มากขึ้น การผลักดันอย่างใหญ่โตมโหฬารเพื่อทำให้ภารกิจด้านอวกาศสร้างความประทับใจเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ มีจุดมุ่งหมายอย่างสำคัญในการสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคม, กลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย, และฝักฝ่ายทางการเมืองนานาในแดนมังกร โดยให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจร่วมกันในผลงานความสำเร็จของประเทศชาติของตนเอง

รัฐบาลจีนได้ลงทุนไปมากมายในโครงการอวกาศของแดนมังกร และก็คาดหมายอย่างเต็มที่ว่าการตัดสินใจเช่นนี้จะได้รับผลตอบแทนอันคุ้มค่า ชัยชนะทั้งในเรื่องสมรรถนะทางทหาร, ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์, ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, และผลทางจิตวิทยา คือดอกผลที่น่าจะได้รับจากโครงการอวกาศที่ประสบความสำเร็จ จีนอาจจะเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีทั้งทักษะความชำนาญด้านเทคโนโลยี, เจตนารมณ์ทางการเมือง, และเงินสดสกุลแข็งในมือ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าการลงทุนในอวกาศของตนจะได้ผลตอบแทนอย่างแน่นอน

**หมายเหตุ**

[1] Shenzhou-9 set for launch, Global Times, Jun 11, 2012.

[2] China to send its first woman into space, The Guardian, Jun 11, 2012.

[3] Shenzhou-9 set for launch, Global Times, Jun 11, 2012.

[4] Canada renews pledge to International Space Station until 2020, Vancouver Sun, Mar 1, 2012.

[5] A Quixotic Quest to Mine Asteroids, The Wall Street Journal, Apr 23, 2012.
[6] China sets out space-station plan, asks public to name it, The Register, Apr 27, 2011.

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง
The Transcendent Harmony

กำลังโหลดความคิดเห็น