xs
xsm
sm
md
lg

‘ฝ่ายค้านกัมพูชา’ยังแตกกันจึงยากที่จะสู้‘รัฐบาลฮุนเซน’

เผยแพร่:   โดย: เออร์วิน ลอย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Cambodian opposition seeks unity
By Irwin Loy
14/06/2012

ผลการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นตอนต้นเดือนนี้ ซึ่งปรากฏว่าพรรคประชาชนกัมพูชา ของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน คว้าชัยชนะได้อย่างมากมายน่าตื่นตะลึงถึง 97% ทำให้พวกพรรคฝ่ายค้านที่แตกแยกกันอยู่บังเกิดความร้อนอกร้อนใจและต้องเร่งรีบหาทางร่วมกันทำงาน เพื่อให้พวกตนได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปปีหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญอย่าง สม รังสี ซึ่งกำลังลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ยังคงยืนกรานว่าตนเองจะต้องมีชื่อในฐานะที่เป็นหัวหน้าของฝ่ายค้านต่อไป ขณะที่มีแนวโน้มด้วยว่าผู้ออกมาใช้สิทธิกำลังลดน้อยลง ซึ่งเป็นผลลบต่อฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล

พนมเปญ – พวกฝ่ายค้านที่อยู่ในสภาพแตกแยกกันในกัมพูชา กำลังให้คำมั่นสัญญาว่า ในการเลือกตั้งคราวต่อไป พวกเขาจะร่วมมือร่วมใจช่วยกันทำงาน แทนที่จะแข่งขันตัดคะแนนกันเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นภายหลังจากที่พรรครัฐบาลได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในการเลือกตั้งอีกคำรบหนึ่งแล้ว

คงไม่มีใครคาดหมายกันหรอกว่า พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party) ของรัฐบาล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีฮุนเซน เป็นผู้กุมบังเหียนอยู่ จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งระดับตำบลทั่วประเทศซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา กระนั้นก็ตามที การที่ผู้สมัครของพรรคนี้มีชัยได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้บริหารตำบลถึงประมาณ 97% ของทั่วทั้งประเทศ ต้องถือเป็นชัยชนะที่เด็ดขาดราบคาบเกินคาด

ถ้าหากการเลือกตั้งคราวนี้จะสามารถใช้เป็นเครื่องวัดสภาพบรรยากาศทางการเมืองก่อนหน้าการเลือกตั้งรัฐสภาครั้งสำคัญที่มีกำหนดจะต้องจัดขึ้นในปี 2013 แล้ว มันก็คือการบ่งบอกให้ทราบว่า ฝ่ายค้านที่เวลานี้กำลังอยู่ในสภาพแตกแยกกันเป็นเสี่ยงๆ ยังจะต้องทำงานกันอย่างหนักหนาสาหัสสักขนาดไหน

ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยุ่งยากลำบากที่ฝ่ายค้านต้องเผชิญด้วยเช่นกัน ได้แก่การที่ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวกัมพูชาจำนวนมากขึ้นกว่าในการเลือกตั้งคราวก่อนๆ กำลังเลือกที่จะนอนหลับทับสิทธิไม่ออกไปเลือกตั้ง โดยพวกเจ้าหน้าที่ติดตามการเลือกตั้งแถลงว่า การเลือกตั้งตอนต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนไว้ได้ออกมาหย่อนบัตรลงคะแนนราวๆ 60% นี่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการที่มีผู้ใช้สิทธิลดน้อยลงเรื่อยๆ อย่างชัดเจน โดยที่การเลือกตั้งระดับตำบลคราวก่อนในปี 2007 นั้นยังมีคนออกมาลงคะแนนกัน 67% ยิ่งเป็นครั้งที่เลือกตั้งกันเมื่อ 10 ปีก่อน ก็มีผู้คนหย่อนบัตรกันถึง 87% ทีเดียว

จำนวนที่ลดน้อยถอยลงเช่นนี้ น่าที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ฝ่ายค้าน มากกว่าพรรครัฐบาลอย่างพรรคประชาชนกัมพูชา

“พรรคประชาชนกัมพูชานั้นรู้วิธีการในการกระตุ้นจูงใจพวกผู้สนับสนุนของพรรคให้ออกมาใช้สิทธิกัน” ตุน ซาไร (Thun Saray) ประธานขององค์การแอดฮอค (Adhoc) ที่เป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิต่างๆ ในกัมพูชา กล่าวแสดงความคิดเห็น “พวกเขาพยายามอำนวยความสะดวกให้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกมาหย่อนบัตรลงคะแนนกัน”

ขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นผู้ควบคุมบงการภูมิทัศน์ทางการเมืองในกัมพูชาเอาไว้อย่างเหนียวแน่นตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด 2 กลุ่ม ได้แก่ พรรคสมรังสี (Sam Rainsy Party) และพรรคสิทธิมนุษยชน (Human Rights Party) กลับยังคงแยกกันรณรงค์หาเสียง ถึงแม้ทั้งสองพรรคต่างสนับสนุนส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเรียกร้องความยุติธรรมในสังคมคล้ายคลึงกัน

ซาไร บอกว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงที่อาจจะเห็นอกเห็นใจฝ่ายค้าน จำนวนไม่น้อยทีเดียว เลือกจะนอนหลับทับสิทธิอยู่กับบ้าน เพราะมองไม่เห็นเลยว่าฝ่ายค้านที่แตกแยกกันเช่นนี้ จะสามารถเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งซึ่งพอจะแข่งขันกับพรรครัฐบาลได้

“ถ้าหากพวกเขายังคงแตกกัน ถ้าหากพวกเขายังคงแบ่งแยกในหมู่พวกเขากันเองเหมือนในตอนนี้แล้ว ผู้มีสิทธิออกเสียงย่อมไม่อาจคาดหวังได้เลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้งได้ เพราะมันเห็นได้ชัดๆ อยู่แล้วว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร” ซาไร กล่าวแจกแจง “พรรคใหญ่มาก 1 พรรค แข่งขันกับพรรคเล็กๆ 2 พรรค คุณก็คิดได้อยู่แล้วว่าผลจะเป็นยังไง”

สภาพการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้พรรคสมรังสี เป็นฝ่ายปราชัยหนักตอนต้นเดือนนี้ แม้กระทั่งในพื้นที่ซึ่งพรรคนี้มีความเข้มแข็งมาแต่ไหนแต่ไรมา เป็นต้นว่า ในเขตเมืองหลวงพนมเปญ ในเวลาเดียวกัน พรรคสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งระดับตำบลเป็นครั้งแรก ก็ได้ตำแหน่งหัวหน้าบริหารตำบลมาเป็นจำนวนแทบจะใกล้เคียงกับที่พรรคสมรังสี ซึ่งจัดตั้งพรรคมาก่อนและดูมีความมั่นคงมากกว่า ชนะมาได้

โอ วิรัค (Ou Virak) ประธานศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวกัมพูชา (Cambodian Centre for Human Rights) ให้ความเห็นว่า ในการเลือกตั้งระดับตำบลคราวนี้ ทั้งสองพรรคฝ่ายค้านต่างฝันหวานว่าจะได้รับคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้น ต่างก็วาดหวังว่านี่จะเป็นแรงเหวี่ยงให้พวกตนมีโอกาสมากขึ้นในการเลือกตั้งรัฐสภาปีหน้า แต่แล้วแทนที่ฝ่ายค้านจะยึดพื้นที่ได้เพิ่มขึ้น พรรคประชาชนกัมพูชาต่างหากคือผู้ที่สามารถประกาศฐานะความเป็นผู้ครอบงำบงการของตนได้อย่างมั่นคง

ประธานศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวกัมพูชา กล่าวต่อไปว่า ผลลัพธ์ที่ออกมาเช่นนี้ ฝ่ายค้านควรที่จะมองให้เห็นเป็นเสียงปลุกให้พวกตนตื่นขึ้นมาจากการหลับใหล เขาบอกว่าพรรคฝ่ายค้านควรต้องรวมกำลังกันหรือควบรวมกันเสียเลย ถ้าหากพวกเขายังคงหวังที่จะเพิ่มการท้าทายอย่างเป็นจริงเป็นจังต่อพรรคประชาชนกัมพูชาในปีหน้า

“นักการเมืองที่ฉลาดจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างแน่นอน และขบคิดให้ความสนใจกับทางเลือกเช่นนี้” วิรัค บอก “นี่อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาในตอนนี้”

อันที่จริงพรรคฝ่ายค้านเหล่านี้ได้เคยเสนอแนวความคิดเรื่องการควบรวมกันมาก่อนแล้วเหมือนกัน ทว่าประสบความล้มเหลวไม่สามารถจัดทำข้อตกลงกันออกมาได้ก่อนการเลือกตั้งคราวล่าสุดนี้ และจากผลงานของพรรคสิทธิมนุษยชนในต้นเดือนนี้ ก็น่าที่จะทำให้พรรคนี้มีแต้มต่อรองสูงขึ้นกว่าเดิม

เขม โสคา (Kem Sokha) ประธานพรรคสิทธิมนุษยชน กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า การที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิกันน้อยในการเลือกตั้งคราวนี้ คือสิ่งที่น่าวิตกกังวล เขาบอกว่าพรรคฝ่ายค้านทั้งสองจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน “เพื่อเห็นแก่ประชาชนชาวกัมพูชา”

“สำหรับเราแล้ว เราต้องการที่จะควบรวมให้กลายเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว” โสคา กล่าว “เพราะถ้าหากเรายังแยกกันอยู่เช่นนี้ โดยที่มีบัญชีผู้ออกเสียงที่แยกกัน มีพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน เราก็ไม่สามารถรวบรวมเสียงโหวตของพวกเราเข้าด้วยกัน เพื่อต่อสู้กับพรรครัฐบาลได้”

ทางด้านพรรคสมรังสี ซึ่งตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาคือพลังคัดค้านต่อการปกครองของพรรคประชาชนกัมพูชาที่ชัดเจนที่สุดนั้น เวลานี้ดูเหมือนพร้อมที่จะยินยอมเห็นพ้องกับแนวความคิดเรื่องการรวมพรรคนี้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต สมรังสี ผู้เป็นหัวหน้าพรรคนี้ ยังคงอยู่ระหว่างการเนรเทศตนเองไปลี้ภัยในยุโรป ภายหลังหลบหนีการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาความผิดซึ่งเป็นที่จับตามองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ภายหลังการเลือกตั้งล่าสุดนี้ สมรังสีบอกว่า เป้าหมายของเขาก็คือ “การรวมพลังสามัคคีพลังฝ่ายค้านทั้งหลายทั้งปวง”

พรรคฝ่ายค้านทั้งสองมีแผนการที่จะปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้ในเดือนกรกฎาคม ทว่าตัวบุคคลทั้งหมดของพรรคทั้งสองสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ยังเป็นคำถามข้อใหญ่ ในส่วนของ สมรังสี เอง ดูเหมือนเขายังคงมีความกระหายที่จะต้องมีชื่อว่าเป็นหัวหน้าของฝ่ายค้านต่อไป

“ผมไม่ขอพูดหรอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ จะเป็นยังไงกันต่อไป ผมขอพูดให้ชัดไปเลยว่าเมื่อผมกลับไป ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ศักยภาพของพรรคสมรังสีก็จะต้องกู้กลับคืนมาได้” สมรังสี บอก “ถ้าผู้ออกเสียงบางส่วนขาดแรงจูงใจไป สืบเนื่องจากการที่ผมไม่อยู่ในประเทศ แต่เมื่อผมกลับไปแล้ว ชื่อของผมก็จะสามารถปลุกระดมประชาชนได้อีกครั้ง”

ก่อนที่ฝ่ายค้านจะสามารถเปิดฉากทำการรณรงค์หาเสียงอย่างสามัคคีกัน ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่บัดนี้ไปจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งในปีหน้า พวกเขาจะต้องหาหนทางประนีประนอมในระหว่างบุคลากรที่มีอยู่ให้ได้เสียก่อน และนี่คือสิ่งที่ โอ วิรัค ประธานศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวกัมพูชา บอกว่า จะเป็นความท้าทายที่มิได้ลำบากสาหัสน้อยกว่าเรื่องอื่นๆ เลย

“มันจะเป็นเรื่องลำบากลำบนจริงๆ ที่จะทำให้ทั้งสองพรรคนี้เข้ามาคำนึงถึงเหตุผลในเชิงยุทธศาสตร์” วิรัค บอก “พวกเขาส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่า พวกเขาปรารถนาที่จะเห็นพรรคการเมืองอื่นๆ นักการเมืองคนอื่นๆ หายลับไปเสียเลยมากกว่า และไม่ต้องการเข้าร่วมในการควบรวมกัน ผมยังมองไม่เห็นเลยว่าพวกเขาจะสามารถเอาชนะความคิดเช่นนี้ได้อย่างจริงจัง ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเย็นมาก”

แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีไหน ฝ่ายค้านก็จะต้องเดินหน้าดำเนินการเปลี่ยนแปลงตนเองให้ได้ภายในระยะเวลา 13 เดือนข้างหน้า ถ้าหากไม่ต้องการปล่อยให้พรรคประชาชนกัมพูชาอยู่ในฐานะครอบงำบงการการเมืองกัมพูชาต่อไปอีก

ในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ พวกพรรคฝ่ายค้านพยายามที่จะฉวยใช้ประโยชน์จากการที่ประชาชนบังเกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านออกจากที่อยู่ที่ทำกิน ทั้งนี้กรณีการฟ้องขับไล่ลักษณะนี้ที่กระทำกันอย่างรุนแรงและปรากฏเป็นข่าวเกรียวกราวหลายๆ กรณีก่อนหน้าการเลือกตั้งคราวนี้ กลายเป็นช่องโหว่ที่ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก

กระนั้นก็ตามที ขณะที่หลักนโยบายด้านความยุติธรรมทางสังคมของพรรคสมรังสี และพรรคสิทธิมนุษยชน อาจจะป่าวร้องแสดงความวิตกห่วงใยในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องที่มีชาวกัมพูชาได้รับผลกระทบกระเทือนจากกรณีพิพาทเรื่องที่ดินเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลการเลือกตั้งกลับแสดงให้เห็นว่า ชาวกัมพูชาจำนวนมากกว่ามากมีความปรารถนาเพียงแค่ฝากคะแนนเสียงของพวกเขาเอาไว้กับรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลนี้เป็นผู้ที่คอยกำกับดูแลทำให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งสามารถรักษาเสถียรภาพเอาไว้ได้ค่อนข้างมั่นคงภายหลังประเทศชาติต้องเผชิญกับศึกสงครามมานานปี และนี่ก็เป็นสิ่งที่แม้กระทั่งเมื่อฝ่ายค้านรวมตัวสามัคคีกันขึ้นมาได้แล้ว ก็ยังจะต้องประสบความลำบากยากเย็นทีเดียวที่จะเอาชนะให้ได้

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น