xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: อุ้มแบงก์สเปน-พรรคสังคมนิยมคว้าชัยเลือกตั้งฝรั่งเศส-ศึกเลือกตั้งกรีซ 3 ตัวแปรร้อนชี้ชะตา “ยูโรโซน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นข่าวร้อนที่สุดข่าวหนึ่งที่ทั่วโลกจับจ้อง และให้ความสนใจมากที่สุดในรอบสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ คือ สถานการณ์ของกลุ่มประเทศยูโรโซน หรือกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่ใช้ “เงินยูโร” เป็นเงินตราสกุลหลัก 17 ประเทศ ที่แต่ละชาติสมาชิกดูเหมือนจะยังคงแก้ปัญหาด้านหนี้สินและความอ่อนแอในภาคการเงินของตนไม่ตก และการ “แก้ไม่ตก” ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบกับยุโรปเท่านั้น แต่กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการค้าขายและการลงทุนไปทั่วโลก
หากกรีซล้มครืน ชาติอื่นๆในยูโรโซนอาจล้มตามเป็น “โดมิโน”
หนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญคือการที่ที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง 17 ชาติยูโรโซน ประกาศปล่อยกู้แก่รัฐบาลสเปนภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมาเรียโน ราฮอย เบรย์ วัย 57 ปี ในวงเงินสูงถึง 100,000 ล้านยูโร(หรือราว 3.95ล้านล้านบาท) เมื่อวันเสาร์ (9) ที่ผ่านมา หวังฟื้นความมั่นใจของนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้งหลังเคยยื่นมือเข้าอุ้มกรีซ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ และโปรตุเกสมาแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากหลายสำนักให้ความเห็นว่า การที่กลุ่มยูโรโซนตัดสินใจปล่อยเงินกู้ก้อนโตเพื่ออุ้มสถาบันการเงินแดนกระทิงดุที่กำลังประสบปัญหาด้านสภาพคล่องและเสถียรภาพอย่างร้ายแรงนี้ไม่ต่างอะไรกับ “การซื้อเวลา” หรือ “ต่อสายออกซิเจน” สำหรับรัฐบาลสเปนและกลุ่มยูโรโซนออกไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้น หาใช่ “คำตอบสุดท้าย” ที่จะนำไปสู่การสิ้นสุดของวิกฤตที่แท้จริงแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า สเปนซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของกลุ่มยูโรโซน กำลังถูกรุมเร้าจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่สูงลิ่วอีกทั้งยังมีหนี้สินก้อนโตที่กำลังจะครบกำหนดชำระคืนแก่บรรดาเจ้าหนี้ราว 82,500 ล้านยูโร (ราว 3.25ล้านล้านบาท) ในช่วงปลายปีนี้ และหากแผนการอัดฉีดเงินของกลุ่มยูโรโซนเพื่ออุ้มสถาบันการเงินของสเปนไม่ได้ผล สเปนก็จะต้องเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกจากประเทศ ซึ่งจะตามมาด้วยความยากลำบากในการระดมทุน และอาจส่งผลให้รัฐบาลมาดริดต้องขอรับเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวมอีกรอบหนึ่ง นอกเหนือจากการขอความช่วยเหลือเฉพาะในภาคการเงินเพียงอย่างเดียวเช่นครั้งนี้
ชัยชนะของพรรคสังคมนิยมและฟรองซัวส์ ออลลองด์กระทบเอกภาพในยูโรโซน
ตัวแปรต่อมา คือผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสที่พรรคสังคมนิยมของประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ผู้นำคนใหม่รวมถึงพรรคการเมืองพันธมิตรได้รับชัยชนะอย่างงดงามได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ถือเป็น “ใบเบิกทาง” ช่วยให้รัฐบาลฝรั่งเศส สามารถเดินหน้าผลักดันมาตรการปฏิรูปต่างๆได้โดยสะดวกราบรื่น

ผลการเลือกตั้งระบุว่า พรรคสังคมนิยม พรรคกรีนและพรรคฝ่ายซ้ายขนาดเล็กที่เป็นพันธมิตร สามารถคว้าชัยชนะโดยได้คะแนนเสียงรวมกันกว่าร้อยละ 46 เหนือพรรคสายกลาง-ขวาอย่าง“อูแอ็มเป”ของอดีตประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซีที่ได้รับคะแนนเสียงราวร้อยละ 34

แน่นอนว่า การที่พรรคสังคมนิยมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเช่นนี้ ย่อมมีผลโดยตรงต่อการแก้ปัญหาในยูโรโซนเช่นกัน เพราะฝรั่งเศสเป็นหนึ่งใน “พี่เบิ้ม” ของกลุ่ม แต่ดูเหมือนประธานาธิบดีใหม่เอี่ยมถอดด้ามอย่างออลลองด์ ดูจะมีจุดยืนในการแก้ปัญหาหนี้สินของชาติสมาชิก ที่ต่างจากรัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กโดยสิ้นเชิง เนื่องจากแมร์เคิลเชื่อมั่นว่าการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเข้มงวดภายใต้มาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ จะช่วยให้ชาติที่มีปัญหา เช่น กรีซ หลุดพ้นจากวิกฤตได้ ขณะที่จุดยืนของ ออลลองด์ คือ การให้ความสำคัญกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อ “กระตุ้นการเติบโต” จากภายในมากกว่า
นายกรัฐมนตรีราฮอยของสเปนคงต้องแลบลิ้นอีกหลายรอบ หากมาตรการอุ้มแบงก์กระทิงดุล้มเหลว
การที่ผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสมีจุดยืนในการแก้ปัญหายูโรโซนที่ต่างกันเช่นนี้นักวิเคราะห์มองว่าไม่เป็นผลดีนัก เพราะนับจากนี้เราอาจได้เห็นการแก้ปัญหายูโรโซนขาดความเป็นเอกภาพและอาจทำให้วิกฤตทวีความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม จนอาจนำไปสู่จุดจบของ “เงินยูโร” ที่เป็นเงินตราสกุลหลักที่ใหญ่เป็นลำดับสองของโลก รองจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนตัวแปรที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญต่ออนาคตของกลุ่มยูโรโซนเช่นกัน และไม่อาจเพิกเฉยได้ คือ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภารอบใหม่ในกรีซที่จะมีขึ้นในวันอาทิตย์(17) ที่จะถึงนี้ หลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมาจบลงแบบไร้พรรคการเมืองที่สามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาด เนื่องจาก 3 พรรคใหญ่สุด คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ (ND) , แนวร่วมฝ่ายซ้ายไซรีซา, และพรรคสังคมนิยมแพนเฮลเลนิก (PASOK) ต่างได้ที่นั่งในรัฐสภาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.85 , 16.78 และ 13.18 ตามลำดับ นำมาซึ่งความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นเหตุให้ต้องจัดเลือกตั้งรอบใหม่ ท่ามกลางกระแสข่าวและผลการสำรวจความคิดเห็นจากหลายสำนักที่ระบุ แนวร่วมฝ่ายซ้ายไซรีซา ภายใต้การนำของนักการเมืองหนุ่มไฟแรงวัย 37 ปีอย่างนายอเล็กซิส ซีปราส อาจเป็นฝ่ายคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบใหม่นี้ เนื่องจากนโยบายของเขาถูกใจมหาชนชาวกรีซ ที่กำลังระทมทุกข์กับการขึ้นภาษีและมาตรการรัดเข็มขัดต่างๆ

และหากเป็นเช่นนั้น อนาคตของกรีซในฐานะสมาชิกของกลุ่มยูโรโซน รวมถึงอนาคตของยูโรโซนในภาพรวมคงมีอันต้อง “ แขวนอยู่บนเส้นดายบางๆ ” เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า นายซีปราสและกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายของเขามีจุดยืนต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดและเงื่อนไขโหดๆที่ผูกมากับเงินกู้ซึ่งเอเธนส์ได้รับจากสหภาพยุโรป(อียู)และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และพร้อมจะนำกรีซออกจากยูโรโซนทุกเมื่อ ซึ่งอาจทำให้เหล่าเจ้าหนี้ระว่างประเทศต้องตัดสินใจระงับความช่วยเหลือ แล้วปล่อยให้กรีซก้าวเข้าสู่ “ภาวะล้มละลายอย่างเต็มตัว” จนต้องผิดนัดชำระหนี้ตามกำหนดในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งผลที่ตามมาหลังจากนั้น หลายฝ่ายคงทราบดีว่า มันคงเลวร้ายจน “ยากเกินบรรยาย”
ยูโรโซนวุ่นแน่ๆ หากซีปราสชนะเลือกตั้งในกรีซอาทิตย์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น