เอเจนซีส์ - ผู้ออกเสียงในกรีซ แสดงพลังต่อต้านแผนรัดเข็มขัด ส่งผลสองพรรคใหญ่ที่หนุนมาตรการยาขมของไอเอ็มเอฟ-อียู ได้คะแนนเลือกตั้งแค่หยิบมือ ฉุดตลาดปั่นป่วนเนื่องจากกังวลว่า วิกฤตหนี้ยูโรโซนจะเดือดพล่านอีกครั้ง
ประธานาธิบดีคาร์โรลอส ปาปูลิอัส เรียก แอนโทนิสต์ ซามารัส ผู้นำพรรคนิว เดโมเครซี ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาในวันอาทิตย์ (6) เข้าพบปะหารือเมื่อวันจันทร์ (7) เพื่อมอบหมายให้ซามารัสจัดตั้งรัฐบาล แต่เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจที่ยากเย็นยิ่ง เมื่อพิจารณาจากคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เทให้บรรดาพรรคที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด
จากคะแนนการเลือกตั้งที่นับเกือบเสร็จสิ้น นิว เดโมเครซี และ โซเชียลลิสต์ ปาสก สองพรรคใหญ่แกนนำรัฐบาลผสม ที่สนับสนุนโครงการความช่วยเหลือของสหภาพยุโรป (อียู)/กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คะแนนรวมกันเพียง 32% และได้ที่นั่งในสภา 149 จากทั้งหมด 300 ที่
และด้วยความที่รัฐสภามีความเปราะบางที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เนื่องจากมี 7 พรรคการเมืองแบ่งคะแนนกันคนละเล็กละน้อย ดังนั้น การเจรจาเพื่อฟอร์มรัฐบาลจึงน่าจะยุ่งยาก และเพิ่มความเป็นไปได้ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนหน้า หากไม่มีพรรคใดสามารถตั้งรัฐบาลได้
ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญกรีซ ประธานาธิบดีจะให้เวลาพรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด 3 วันในการจัดตั้งรัฐบาล หากไม่สำเร็จ พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 2 จะได้สิทธินั้น ซึ่งหากล้มเหลวอีกจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 3 สัปดาห์
ปานาโยทิส เปทรากิส ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอเธนส์ ระบุว่า แนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ รัฐบาลนักวิชาการที่มีลูคัส ปาปาเดมอส กลับมารั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือไม่ก็ต้องเลือกตั้งใหม่
ความสำเร็จเด่นชัดของบรรดาพรรคที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งมีตั้งแต่พรรคขวาสุดโต่ง โกลเด้น ดอว์น ไปจนถึงพรรคซ้ายจัด เลฟต์ โคเอลิชัน นั้น อาจทำให้กรีซต้องถอนตัวจากแผนการรัดเข็มขัดของไอเอ็มเอฟ-อียู และนั่นหมายถึงการถูกตัดความช่วยเหลือทางการเงิน และกระทั่งอาจหลุดออกจากการเป็นชาติสมาชิกใช้สกุลเงินตรายูโร (ยูโรโซน)
เนื่องจากพรรคของเขาได้คะแนนมากที่สุด ซามาราสจึงได้สิทธิในการตั้งรัฐบาล ขณะที่ปาสกเข้ามาเป็นที่ 3 และทั้งสองพรรคต้องหาทางดึง 1 ใน 5 พรรคที่ต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัด หากจะร่วมกันตั้งรัฐบาลอีกสมัย
ยิ่งกว่านั้น เอเธนส์จะพบบททดสอบใหม่เดือนหน้า ที่รัฐสภาต้องอนุมัติการลดการใช้จ่ายอีก 11,000 ล้านยูโรสำหรับปี 2013-2014 แลกกับความช่วยเหลืองวดต่อไปจากอียูและไอเอ็มเอฟ
นั่นดูเหมือนเป็นงานหนักมากแม้ตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ทันเวลาก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า คะแนนเสียงเลือกตั้งที่กระจัดกระจายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน อาจหมายถึงช่วงเวลาหลายสัปดาห์ที่ไร้ความแน่นอน และบีบให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่
โอธอน อนาสตาเซกิส ผู้อำนวยการแผนกยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ระบุว่า ชาวกรีซกำลังส่งข้อความที่ชัดเจนมากถึงโลกภายนอกว่า ไม่เอามาตรการรัดเข็มขัดอีกต่อไป
ทั้งนี้ ทางเลือกทางการเมืองในกรีซจำกัดมาก เลฟทิสต์ โคเอลิชัน ภายใต้การนำของ อเล็กซิส ซีปราส ที่ต่อต้านการรัดเข็มขัด ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 นั้นกำลังพยายามเรียกร้องให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายรวมตัวกัน โดยไม่สนใจจะจับมือกับ นิว เดโมเครซี และ ปาสก
คาดว่า เดโมเครติก เลฟต์ พรรคฝ่ายซ้ายขนาดเล็กของทนายความ โฟติส คูเวลิส และอินดิเพนเดนท์ กรีกส์ ของปานอส แคมเมนอส นักปฏิวัติสายอนุรักษนิยม จะถูกตามจีบอย่างหนัก แม้ทั้งสองพรรคประกาศยึดมั่นกับแนวทางต่อต้านการรัดเข็มขัด
ไม่ว่า เลฟทิสต์ โคเอลิชัน, เดโมเครติก เลฟต์, หรือ อินดิเพนเดนท์ กรีกส์ ต่างก็ประกาศว่าต้องการให้กรีซเป็นสมาชิกยูโรโซนต่อไป แต่พวกเขายืนกรานว่า สามารถเรียกร้องให้ยูโรโซนกลับมาทบทวนการเจรจาเกี่ยวกับมาตรการรัดเข็มขัด หรือไม่ก็โต้แย้งว่า การที่พวกเจ้าหนี้ต่างชาติแสดงท่าทีข่มขู่ยกเลิกความช่วยเหลือ หากกรีซไม่สามารถตัดลดงบประมาณได้ตามที่สัญญาไว้นั้น เป็นเพียงการ “บลัฟ” กัน มากกว่าจะกล้าทำจริงๆ
วันจันทร์ตลาดปั่นป่วนหนัก ยูโรตกต่ำสุดในรอบ 3 เดือน และดัชนีหุ้นสำคัญของยุโรปร่วง
นักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปคาดว่า ผลการเลือกตั้งที่หาข้อสรุปไม่ได้ เพิ่มความเสี่ยงที่กรีซจะต้องถอนตัวจากยูโรโซนขึ้นไปอยู่ระหว่าง 50-75% จากที่อยู่ในระดับ 50% ในช่วงก่อนหน้านี้
ซามาราสนั้นเรียกร้องเมื่อวันอาทิตย์ เพื่อให้สามารถตั้งรัฐบาลสนับสนุนยุโรปที่เป็นเอกภาพ อันจะทำให้กรีซยังเป็นสมาชิกยูโรโซนได้ต่อไป เช่นเดียวกับอิแวนเจลอส เวนิเซลอส ผู้นำปาสก ที่เรียกร้องแบบเดียวกัน
อนึ่ง นิว เดโมเครซีได้คะแนนไม่ถึง 19% ส่วนปาสกได้แค่ 13.2% และเลฟต์ โคเอลิชันได้ 16.8% แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการเลือกตั้งในปี 2009 ที่ปาสกชนะถล่มทลายด้วยคะแนน 43.9%, นิว เดโมเครซีได้ 33.5% และเลฟต์ โคเอลิชัน 4.6%
ดัชนีบ่งชี้ความไม่พอใจของประชาชนอีกอย่างคือ โกลเด้น ดอว์น พรรคชาตินิยมสุดขั้ว ได้คะแนน 7% นับเป็นครั้งแรกที่พรรคนี้ได้เข้าสู่สภาหลังสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารในปี 1974
ผลการเลือกตั้งชวนช็อกของกรีซเกิดขึ้นพร้อมกับชัยชนะของฟรังซัวส์ ออลลองด์ จากพรรคโซเชียลลิสต์ ในการเลือกตั้งผู้นำฝรั่งเศส ที่คาดว่าจะเพิ่มแรงกดดันในการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่เยอรมันเป็นตัวตั้งตัวตี