เอเอฟพี - หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุนเผย คณะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นสามารถสร้างตับมนุษย์ที่ทำงานได้จริงจากสเต็มเซลล์ได้สำเร็จ เป็นการเพิ่มความหวังให้กับการผลิตอวัยวะเทียมสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะ
หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ปลูกถ่ายเซลล์อินดิวซ์พลูริโพเทนต์สเต็มเซลล์ หรือไอพีเอสเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ต้นตอชนิดใหม่ที่นำมาใช้ทดแทนสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ลงในร่างของหนูตัวหนึ่ง ซึ่งแม้จะเล็ก แต่ก็เป็นตับมนุษย์ที่สามารถทำงานได้
เซลส์ต้นตอมักเก็บเกี่ยวจากตัวอ่อนมนุษย์ซึ่งถูกทิ้ง อันเป็นการกระทำที่บางฝ่ายมองว่าขัดต่อศีลธรรม ทว่า เซลส์ไอพีเอส ซึ่งมีประสิทธิภาพในการพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อของร่างกายส่วนใดก็ได้นั้น สามารถนำมาจากผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์ฮิเดกิ ทานิกูชิ แห่งมหาวิทยาลัยเมืองโยโกฮามา ได้พัฒนาเซลล์ไอพีเอสของมนุษย์เป็นเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งพวกเขาสามารถปลูกถ่ายลงในหัวของหนูโดยถือโอกาสเอาประโยชน์จากการไหลเวียนของโลหิตที่เพิ่มขึ้น
เซลล์ดังกล่าวเติบโตขึ้นเป็นตับมนุษย์ขนาด 5 มิลลิเมตร ซึ่งมีความสามารถในการผลิตโปรตีนสำหรับคน และแปรสภาพสารพิษหรือยาต่างๆ เพื่อให้ร่างกายขับถ่ายออกไปได้ โยมิอูริเสริม
ความสำเร็จครั้งนี้เปิดประตูสู่การสร้างอวัยวะเทียมสำหรับมนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่แพทย์หลายๆ คนต้องเผชิญจากการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะสำหรับการปลูกถ่าย
การวิจัยของทานิกูชินั้นอาจเป็นสะพานสำคัญที่เชื่อมระหว่างการวิจัยพื้นฐาน กับการนำมาใช้ทางคลินิก แต่ยังต้องเจอปัญหาต่างๆ หลากหลาย ก่อนที่จะสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์ได้จริง หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเสริม
บทคัดย่องานวิจัยของทานิกูชิถูกส่งไปให้นักวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด และเวชศาสตร์ ก่อนหน้างานประชุมวิชาการในสัปดาห์ แต่ทานิกูชิยังปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นใดๆ ก่อนการประชุมนั้น
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัย 2 ทีมจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ค้นพบเซลล์ไอพีเอสนี้ในปี 2006