เอเอฟพี - แม้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ จะเคยตรัสไว้ว่า ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติอย่างแน่นอน ทว่าพระราชพิธีพัชราภิเษกสมโภชก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า นับจากวันนี้ พระบรมวงศานุวงศ์รุ่นใหม่จะทรงเข้ามารับช่วงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ แทนองค์สมเด็จพระราชินีนาถมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ผู้เชี่ยวชาญระบุ
พิธีเฉลิมฉลองซึ่งจัดขึ้นทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ปลุกกระแสความนิยมในสถาบันกษัตริย์อังกฤษให้พุ่งสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ หลังจากที่ผ่านยุคมืดในช่วงปี 1990 เป็นต้นมา
สมเด็จพระราชินีนาถมิได้ทรงแสดงพระอาการเหน็ดเหนื่อยแม้แต่น้อย ระหว่างที่ประทับเรือพระที่นั่งนำกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคในแม่น้ำเทมส์ เมื่อวันอาทิตย์ (3) ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเชื่อว่า พระองค์จะทรงครองสถิติกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษแทนที่ควีนวิกตอเรีย ในปี 2015 นี้อย่างไม่ต้องสงสัย
เคต วิลเลียมส์ นักประวัติศาสตร์ราชวงศ์ กล่าวว่า “สมเด็จพระราชินีนาถจะไม่ทรงสละราชบัลลังก์ พระองค์เคยตรัสอย่างชัดเจนในหลายๆ โอกาสว่า จะไม่ทรงสละราชสมบัติแน่นอน”
“ต่อให้พระองค์ทรงพระประชวรด้วยโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคอื่นๆ ที่ร้ายแรงกว่านี้ ก็ไม่ทรงสละบัลลังก์แน่ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะทรงรั้งตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปจนกว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะสวรรคต” วิลเลียมส์เผย
คำว่า “เดอะ เฟิร์ม” ที่คนทั่วไปมักเรียกขานสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นไม่ใช่คำกล่าวอย่างลอยๆ ทุกวันนี้พระราชโอรส, พระราชธิดา และพระราชนัดดาทุกพระองค์ ล้วนแต่ทรงรับปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนองค์สมเด็จพระราชินีนาถและเจ้าชายฟิลิป ซึ่งมีพระชนมายุล่วงเข้า 90 พรรษาแล้ว
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ พระชนมายุ 63 พรรษา ทรงมีบทบาทอย่างชัดเจนมานานหลายปีในฐานะองค์มกุฎราชกุมาร ขณะที่พระราชโอรส คือ เจ้าชายวิลเลียม และเจ้าชายแฮร์รี ก็ทรงมีบทบาทโดดเด่นตลอดปีที่แล้ว หลังผ่านพระราชพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายวิลเลียม กับ เคต มิดเดิลตัน
“สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้หมายถึงเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง” โรเบิร์ต จ็อบสัน นักวิจารณ์ราชวงศ์กล่าว
“สถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับพระราชวงศ์โดยรวม ไม่เหมือนระบอบประธานาธิบดี ไม่ใช่หน้าที่ของบุคคลคนเดียว แต่เป็นเหมือนสามเหลี่ยมซึ่งมียอดแหลมบนฐานที่กว้าง”
พระราชภารกิจของสมเด็จพระราชินีนาถลดลงจาก 432 ครั้งเมื่อปี 2010 เหลือเพียง 370 ครั้งในปีที่ผ่านมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯแทนพระองค์เยือนประเทศเครือจักรภพในปีพัชราภิเษก โดยเฉพาะเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี ซึ่งเสด็จฯเยือนต่างแดนแทนองค์สมเด็จพระราชินีนาถเป็นครั้งแรก ขณะที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์, เจ้าฟ้าหญิงแอนน์, เจ้าฟ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าฟ้าชายเอ็ดเวิร์ด ก็ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ แทนพระองค์เช่นกัน
“ผมเชื่อว่า เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับเจ้าชายวิลเลียม จะทรงมีบทบาทคล้ายพระราชาเงาหลังจากนี้ไป” จ็อบสันกล่าว
“คงไม่ผิดถ้าจะยอมรับตรงๆ ว่า สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยลง แต่เชื่อได้เลยว่า คำพูดเช่นนี้จะไม่ถูกยอมรับแน่ พระองค์ท่านคงจะทรงยืนยันว่า ยังทรงทำเหมือนเช่นตลอด 60 ปีที่ผ่านมา”
“เดอะ เฟิร์ม” เป็นศัพท์ที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้เรียกแทนสถาบันกษัตริย์อังกฤษ และความวุ่นวายเมื่อครั้งที่พระราชบิดาของพระองค์ต้องทรงขึ้นครองราชย์แทนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ที่ทรงสละราชสมบัติไปอภิเษกสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายชาวอเมริกัน ก็ยิ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า สมเด็จพระราชินีนาถจะไม่ทรงยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอย่างแน่นอน
“หลักการก็คือ คุณต้องตายในหน้าที่ มันเป็นหลักการที่ถูกปลูกฝังในสถาบันกษัตริย์มานานแล้ว” แคลริสซา แคมป์เบลล์-ออร์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านราชสำนัก จากมหาวิทยาลัยแองเกลีย รัสกิน ระบุ
ความพยายามแทรกแซงกฎการสืบสันตติวงศ์อาจนำมาซึ่งปัญหายุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า คนส่วนใหญ่อยากเห็นเจ้าชายวิลเลียมขึ้นครองราชย์มากกว่าพระบิดาของพระองค์
ภาพลักษณ์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ต้องมัวหมองเนื่องด้วยเรื่องรักส่วนพระองค์ รวมถึงการที่ทรงหย่าร้างกับเจ้าหญิงไดอานาเพื่อไปอภิเษกสมรสใหม่กับ คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบว์ลส และแม้ทุกวันนี้จะทรงงานด้านสิ่งแวดล้อมและงานการกุศลมากมาย แต่ก็มิได้ช่วยดึงความนิยมจากประชาชนอังกฤษได้มากนัก
วิลเลียมส์ เปรียบเทียบการทำงานของพระราชวงศ์เหมือนวงดนตรีเพลงป็อป
“ราชวงศ์ก็ไม่ต่างจาก เดอะ บีเทิลส์... เริ่มแรกเจ้าชายวิลเลียมกับเจ้าชายแฮร์รีทรงเป็นแค่นักร้องประสาน แต่วันนี้ทรงก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องนำ โดยเฉพาะเจ้าชายแฮร์รี ทรงเป็นเหมือนโจ๊กเกอร์ ทรงมีอารมณ์ขันมาก”