รอยเตอร์ - กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคกลางแม่น้ำเทมส์ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ เนื่องในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 300 ปี โดยมีรายละเอียดที่ควรทราบ ดังนี้
- กระบวนเรือพระราชพิธีจะแล่นผ่านถนน สะพานคนข้าม และสะพานรถไฟ รวมทั้งสิ้น 14 แห่ง
- สะพานทาวเวอร์บริดจ์จะถูกยกขึ้นทั้ง 2 ด้าน เพื่อถวายความเคารพต่อกระบวนเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีนาถ
- เส้นทางเสด็จพระราชดำเนินมีความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อรวมกับบริเวณที่ปิดถนนตั้งแต่ย่านแฮมเมอร์สมิธไปจนถึง โอลด์ รอยัล นาวัล คอลเลจ ก็จะมีความยาวรวมถึง 22 กิโลเมตร
- แม่น้ำเทมส์เคยเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองมาแล้วหลายครั้ง ได้แก่ พระราชพิธีสถาปนา แอนน์ โบลีน ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เมื่อปี 1533, กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 และพระราชินี เมื่อปี 1622 และงานแสดงดนตรีออเคสตราของ วอเตอร์ มิวสิค เมื่อปี 1717 ซึ่งพระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงมีพระบรมราชโองการให้จัดขึ้น
- สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป พระสวามี เคยประทับเรือพระที่นั่งจากเมืองกรีนิชไปยังแลมเบิร์ธ ในพระราชพิธีรัชดาภิเษกสมโภช เมื่อปี 1977 ซึ่งในเย็นวันเดียวกัน มีการจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่ใช้เรือถึง 140 ลำ โดยสมเด็จพระราชินีนาถทรงทอดพระเนตรจาก เคาน์ตี ฮอลล์
- เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระราชินีนาถ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ และพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นเรือพระที่นั่งลำเก่าซึ่งได้รับการตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระราชินีนาถ และเป็นไปตามโบราณราชประเพณี
- เรือแอมะซอน ซึ่งเคยใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในพระราชพิธีพัชราภิเษกสมโภชสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อปี 1897 จะถูกนำออกมาร่วมกระบวนเรือพระราชพิธีในครั้งนี้ด้วย
- เรือพระที่นั่งกลอเรียนา ความยาว 90 ฟุต จะเป็นเรือพายที่มีความยาวมากที่สุดในพระราชพิธีวันนี้
- ชื่อแม่น้ำเทมส์ มาจากคำว่า Temese ในภาษาอังกฤษแบบเก่า และ Tamesas ในภาษาของชาวเคลต์ มีความหมายว่า “ความมืด”
- ฝั่งเหนือของแม่น้ำเทมส์ ซึ่งจะเป็นจุดสิ้นสุดกระบวนเรือพระราชพิธี เป็นชุมชนชาวอังกฤษโบราณแห่งแรกในกรุงลอนดอน และต่อมาภายหลังกลายเป็นท่าเรือลอนดอน