xs
xsm
sm
md
lg

แผนร่าง “รัฐธรรมนูญเนปาล” ล้มเหลวตามคาด-ต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี บาบูรัม ภัตตาไร (ที่ 2 จากซ้าย) แถลงข่าวการเลือกตั้งใหม่ที่กรุงกาฐมาณฑุ วานนี้(27) หลังความพยายามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ล้มเหลวอีกครั้ง เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถตกลงกันได้
เอเอฟพี - สภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้สำเร็จก่อนถึงกำหนดเส้นตายเที่ยงคืนวานนี้ (27) ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ และอาจทำให้เนปาลตกอยู่ในภาวะไร้เสถียรภาพไปตลอดหลายเดือนข้างหน้า

รัฐสภาเนปาลซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงครามการเมือง จะต้องถูกยุบเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังผู้นำฝ่ายต่างๆ ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องโครงสร้างรัฐ

“แม้เราจะไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ทัน แต่เราก็ตัดสินใจให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้” บาบูรัม ภัตตาไร นายกรัฐมนตรีจากพรรคคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมา แถลงต่อประชาชนผ่านสื่อโทรทัศน์

ภัตตาไร ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลปรองดองแห่งชาติอันมีส่วนผสมมาจาก 4 พรรคใหญ่ยืนยันว่า ตนจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงวันเลือกตั้ง และรัฐบาลก็จะยังมีอำนาจบริหารประเทศต่อไปได้

คำพูดของนายกรัฐมนตรีจุดกระแสคัดค้านจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเนปาลีคองเกรส, พรรคคอมมิวนิสต์มาร์กซิสต์-เลนินิสต์ และพรรคสมัชชามาเดสี ชี้ว่า การเลือกตั้งใหม่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสาธารณรัฐประชาธิปไตยใหม่ หลังจากระบบกษัตริย์ฮินดูถูกยกเลิก และกบฏเหมาอิสต์ยอมทิ้งอาวุธและได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008

หลายฝ่ายคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะนำเสถียรภาพกลับคืนสู่ดินแดนกลางขุนเขาหิมาลัย และหลอมรวมชนเผ่าต่างๆ กว่า 100 เผ่าเข้าด้วยกัน หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 16,000 คน

แม้จะเลื่อนกำหนดเส้นตายมาแล้วถึง 4 ครั้ง ทว่าสภาก็ยังไม่สามารถสรุปร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ จนกระทั่งศาลสูงสุดประกาศมาแล้วว่า หากเลื่อนกำหนดออกไปอีกจะถือว่าผิดกฎหมาย

นักวิเคราะห์เตือนว่า หากการร่างรัฐธรรมนูญล้มเหลว อาจเกิด “สุญญากาศทางการเมือง” ซึ่งรัฐบาลรักษาการและประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ อีกทั้งไม่มีรัฐสภาที่จะคอยออกกฎหมายและอนุมัติการตัดสินใจต่างๆ ด้วย

“การเลือกตั้งคราวนี้อาจนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก และแม้จะมีขึ้นได้ ก็จะเต็มไปด้วยเหตุรุนแรง” ติลัก ปาธัก นักวิเคราะห์การเมืองคนหนึ่งเผย

“แม้แต่ความชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบันก็จะถูกตั้งคำถาม เพราะเมื่อยุบสภาแล้ว รัฐบาลนี้ก็จะทำหน้าที่รักษาการเท่านั้น”

การเมืองที่ไร้เสถียรภาพส่งผลให้เศรษฐกิจของเนปาลอ่อนแอ ประชาชนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจออกไปหางานทำในต่างแดน และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่คืบหน้าเสียที
กำลังโหลดความคิดเห็น