xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำเนปาลเร่งเจรจาคลอด “รัฐธรรมนูญใหม่” ก่อนถึงเส้นตายเที่ยงคืนนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำรวจเนปาลยืนตั้งแถวรักษาความปลอดภัยที่หน้าอาคารสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในกรุงกาฐมาณฑุ วานนี้(26)
เอเอฟพี - บรรดาผู้นำของเนปาลจัดประชุมด่วนในวันนี้ (27) ขณะที่เหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงที่รัฐธรรมนูญยุคหลังสงครามกลางเมืองจะต้องถูกร่างให้เสร็จก่อนเที่ยงคืน มิเช่นนั้นก็จะต้องมีการยุบสภา ซึ่งอาจหมายถึงวิกฤตการเมืองครั้งใหม่

สภาร่างรัฐธรรมนูญเนปาลซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ และกำกับดูแลกระบวนการสร้างสันติภาพ หลังสงครามกลางเมืองที่ยาวนานนับทศวรรษสิ้นสุดลงในปี 2006

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองใหญ่ๆ ยังไม่อาจตกลงกันเกี่ยวกับโครงสร้างความเป็นรัฐ จนต้องเลื่อนกำหนดเส้นตายมาแล้วหลายครั้ง และล่าสุดรัฐสภาเนปาลก็เสี่ยงที่จะต้องถูกยุบ เพื่อเปิดทางไปสู่การเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“หากการเจรจายังเป็นไปในลักษณะนี้ สภาร่างรัฐธรรมนูญก็คงนำไปสู่การยุบสภาอย่างแน่นอน” อรชุน นรสิงห์ เค.ซี. หัวหน้าพรรคเนปาลคองเกรส ซึ่งเป็น 1 ใน 4 พรรคใหญ่ ระบุ

ตำรวจกว่า 6,000 นายถูกส่งไปรักษาความปลอดภัยรอบอาคารที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญและทั่วทั้งกรุงกาฐมาณฑุ หลังผู้นำฝ่ายต่างๆ เปิดประชุมด่วนในช่วงเช้าวันนี้ (27)

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสาธารณรัฐประชาธิปไตยใหม่ หลังจากระบบกษัตริย์ฮินดูถูกยกเลิก และกบฏเหมาอิสต์ยอมทิ้งอาวุธและได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008

หลายฝ่ายคาดหวังว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะนำเสถียรภาพกลับคืนสู่ดินแดนกลางขุนเขาหิมาลัย และหลอมรวมชนเผ่าต่างๆ กว่า 100 เผ่าเข้าด้วยกัน หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่คร่าชีวิต
ผู้คนไปกว่า 16,000 คน

แม้จะเลื่อนกำหนดเส้นตายมาแล้วถึง 4 ครั้ง ทว่าสภาก็ยังไม่สามารถสรุปร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายได้ จนกระทั่งศาลสูงสุดประกาศมาแล้วว่า หากเลื่อนกำหนดออกไปอีกจะถือว่าผิดกฎหมาย

นักวิเคราะห์คาดว่า บทสรุปของการเจรจาน่าจะออกมาเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ 2) ประนีประนอมให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญตามกำหนดเวลาไปก่อน แล้วจึงมาถกเถียงประเด็นขัดแย้งกันภายหลัง และ 3) ไม่สามารถตกลงได้ จนนำไปสู่การยุบสภา ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่สุด

ซูบาส เนมบัง ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เตือนว่าอาจเกิด “สุญญากาศทางการเมือง” ซึ่งรัฐบาลรักษาการและประธานาธิบดีจะไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ อีกทั้งไม่มีรัฐสภาที่จะคอยออกกฎหมายและอนุมัติการตัดสินใจต่างๆ ด้วย

การเมืองที่ไร้เสถียรภาพส่งผลให้เศรษฐกิจของเนปาลอ่อนแอ ประชาชนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจออกไปหางานทำในต่างแดน และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่คืบหน้าเสียที


กำลังโหลดความคิดเห็น