เอเอฟพี - กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ วางแผนสร้างเครื่องบินขับไล่รุ่น เอฟ-35 เพื่อให้เป็นอากาศยานสุดยอดเทคโนโลยีซึ่งมีระดับราคาที่พอจะจ่ายกันไหว จุดโดดเด่นที่สุดและทะเยอทะยานที่สุดของแผนการนี้ก็คือ มันจะเป็นเครื่องบินรบที่กองทัพอากาศ, กองทัพเรือ, และกองทัพนาวิกโยธินอเมริกัน สามารถนำไปใช้งานได้หมด และฝูงบินสู้รบของสหรัฐฯส่วนใหญ่ จะเปลี่ยนไปเป็น เอฟ-35 เวอร์ชั่นต่างๆ ภายในสิ้นทศวรรษนี้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคกลับถาโถมเข้ามามากมายและแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนักหน่วงทางวิศวกรรม, ความล่าช้าในการลงมือผลิต, และราคาที่พุ่งโด่งโลดลิ่ว
เอฟ-35เครื่องบินขับไล่ชนิดเครื่องยนต์เดี่ยว ถือเป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ 5 เนื่องจากมีระบบซอฟต์แวร์อันล้ำสมัย บวกกับเทคโนโลยี “สเตลท์” ที่สามารถหลบหลีกเรดาร์ในดินแดนของศัตรูได้
แสนยานุภาพทางทหารของจีนเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มักใช้เป็นเหตุสนับสนุนการจัดซื้ออากาศยานไฮเทค ขณะที่ปักกิ่งเองก็กำลังซุ่มพัฒนาเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 ของตนอยู่เช่นกัน
โครงการพัฒนา เอฟ-35 มีเป้าหมายที่จะผลิตเครื่องบินรบสำหรับกองทัพสหรัฐฯจำนวน 2,443 ลำ และอีกหลายร้อยลำสำหรับอีก 8 ชาติที่ร่วมลงทุน รวมถึงลูกค้าอีก 2 ราย คือ ญี่ปุ่น กับ อิสราเอล
8 ประเทศ ที่ร่วมลงขันพัฒนา เอฟ-35 ได้แก่ ออสเตรเลีย, อังกฤษ, แคนาดา, เดนมาร์ก, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์ และตุรกี
เอฟ-35 จะผลิตออกมาหลายเวอร์ชั่นด้วยกัน โดย เอฟ-35เอ ถูกออกแบบเพื่อใช้ในกองทัพอากาศ แทนที่เครื่องบินขับไล่/ทิ้งระเบิด รุ่น เอฟ-16 และ เอฟ-18 ตลอดจน เอ-10 ธันเดอร์โบลต์ ซึ่งเป็นเครื่องบินโจมตีภาคพื้นดิน
เวอร์ชั่นที่สองคือ เอฟ-35ซี จะใช้สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน โดยมาแทนที่ เอฟ/เอ-18 ที่กองทัพเรือสหรัฐฯใช้อยู่ในปัจจุบัน ส่วนเวอร์ชั่นสุดท้ายคือ เอฟ-35 บี ซึ่งสามารถขึ้น-ลงแนวดิ่งได้ จะมาแทนที่ จัมพ์ เจ็ต “แฮร์ริเออร์” ที่มีอายุการใช้งานยาวนานแล้ว
เนื่องจากทั้ง 3 เวอร์ชั่นมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกันถึง 80% ค่าใช้จ่ายในการผลิตเครื่องบินรบรุ่นนี้จึงคาดว่าจะถูกกว่าโครงการพัฒนาอาวุธที่มีมาก่อน
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ ล็อกฮีด มาร์ติน ได้สัญญาผลิต เอฟ-35 งบประมาณโครงการก็บานปลายเป็น 2 เท่า โดยตามตัวเลขของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯปีที่แล้ว มูลค่าของทั้งโครงการในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 395,700 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับมูลค่าของเอฟ-35 แต่ละลำที่จะผลิตออกมา จะอยู่ที่ราว 162 ล้านดอลลาร์
นอกจากนั้น ปัญหาทางวิศวกรรมอันสาหัส ยังทำให้ต้องเลื่อนกำหนดส่งมอบออกไปจนถึงปี 2020 จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถประจำการในกองทัพสหรัฐฯ ได้ภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเร็วสูงสุดถึง Mach 1.6 หรือราว 1,900 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องบิน เอฟ-35 มีพิสัยเดินทางไกลถึง 1,100 กิโลเมตร เว้นเพียงรุ่น เอฟ-35บี ที่บินต่อเนื่องได้ไม่เกิน 800 กิโลเมตร แต่สามารถเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศได้
ระวางบรรทุกระเบิดภายใน เอฟ-35 สามารถบรรจุขีปนาวุธชนิดยิงจากอากาศสู่อากาศได้ 2 ลูก และระเบิดนำวิถีอีก 2 ลูก ส่วนบริเวณปีก 2 ข้างสามารถติดตั้งระเบิดหรือขีปนาวุธได้อีก 4 ลูก