เอเอฟพี - อิหร่านจะปล่อยดาวเทียมสำรวจเพื่อการทดลองในสัปดาห์หน้า ซึ่งตรงกับวันที่จะเข้าร่วมการเจรจาประเด็นโครงการนิวเคลียร์กับชาติมหาอำนาจตะวันตกในกรุงแบกแดด สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอเผยวันนี้ (14)
“ดาวเทียมฟัจร์จะถูกปล่อยในวันกอร์ดัด 3 (ตรงกับ 23 พฤษภาคม)” เมห์ดี ฟาราฮี ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมอวกาศเผย ตามรายงานของไออาร์เอ็นเอ
ดาวเทียมดังกล่าวนับเป็นดาวเทียมดวงที่ 4 ของอิหร่าน ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ นับตั้งแต่ปี 2009 โดยโครงการด้านอวกาศของเตหะรานนั้นสร้างความกังวลให้กับประชาคมโลก ที่ต้องสงสัยว่าประเทศนี้พยายามพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล บรรจุหัวรบนิวเคลียร์
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เตหะรานออกมาประกาศวันปล่อยดาวเทียมล่วงหน้า ทั้งที่การยิงจรวดนำดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศครั้งก่อนๆ นั้นถูกรายงาน หลังการปฏิบัติการประสบความสำเร็จแล้ว
ในวันที่ 23 พฤษภาคมนั้น อิหร่านจะเปิดการเจรจากับชาติมหาอำนาจในกรุงแบกแดด เกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ที่เป็นข้อถกเถียงกันมานาน และยังถูกประณามจากหลายชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น
การปล่อยดาวเทียมครั้งก่อนหน้านี้ของอิหร่านส่งผลให้มหาอำนาจชาติตะวันตกประณามว่าเป็นการยั่วยุ
ขณะที่สงสัยว่าเตหะรานแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แม้รัฐอิสลามแห่งนี้ยืนกรานปฏิเสธตลอดมา
สำหรับดาวเทียมฟัจร์นั้น เจ้าหน้าที่อิหร่านระบุว่าเป็นดาวเทียมเพื่อการสำรวจ และวัดค่า มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สร้างโดยบริษัทซา-อิหร่าน ในเครือกระทรวงกลาโหม มีระยะเวลาใช้งานนาน 18 เดือน ซึ่งนานกว่าดาวเทียม 3 ดวงก่อนหน้านี้
ฟาราฮีระบุว่า ดาวเทียมฟัจร์จะถูกนำขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดซอฟีร์-บี 1 ที่สามารถบรรจุวัตถุที่มีน้ำหนัก 50 กิโล ขึ้นไปบนวงโคจรระยะต่ำ ประมาณ 300-450 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จรวดซอฟีร์-บี 1 มีความใกล้เคียงกับขีปนาวุธชาฮับ-3 ของอิหร่าน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากขีปนาวุธโนดงของเกาหลีเหนือ