xs
xsm
sm
md
lg

“ไทย” ยังติด “แบล็กลิสต์” ของสหรัฐฯ เป็นประเทศละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ออก “รายงานมาตรา 301พิเศษ” (Special 301 Report) ประจำปี 2012 ซึ่งเป็นการประกาศรายชื่อประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯเห็นว่าต้องจับตามองให้มากในกรณีการโจรกรรมทรัพย์สินทางปัญญาและเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ โดยปรากฏว่า ในรายชื่อ “ผู้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ” นอกจากขาประจำอย่างรัสเซีย และจีนแล้ว ไทยก็ยังติดอยู่ในแบล็กลิสต์นี้เช่นเดิม
รายงานประจำปีล่าสุดซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (30 เม.ย.) จัดให้ 13 ประเทศเหล่านี้อยู่ในโผประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) ได้แก่ อาร์เจนตินา แคนาดา อินเดีย แอลจีเรีย ชิลี จีน อินโดนีเซีย อิสราเอล ปากีสถาน รัสเซีย ยูเครน เวเนซุเอลา และไทย

ขณะที่มี 26 ประเทศถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ได้แก่ เบลารุส โบลิเวีย บราซิล บรูไน โคลอมเบีย คอสตาริกา สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ อียิปต์ ฟินแลนด์ กรีซ กัวเตมาลา อิตาลี จาไมกา คูเวต เลบานอน เม็กซิโก นอร์เวย์ เปรู ฟิลิปปินส์ โรมาเนีย ทาจิกิสถาน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และเวียดนาม แล้วมีอีก 1 ประเทศ คือ ปารากวัย ติดอยู่ในรายชื่อชาติซึ่งต้องเฝ้าติดตามตามมาตรา 306 (Section 306 Monitoring)

เอกอัครราชทูต รอน เคิร์ก ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แถลงว่า รายงานมาตรา 301 พิเศษในปีนี้มีความสำคัญมากกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากข้อมูลของทางการสหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่เน้นหนักทรัพย์สินทางปัญญาสนับสนุนการจ้างงานในสหรัฐฯ ถึง 40 ล้านตำแหน่ง และคิดเป็น 60% ของมูลค่าการส่งออก

ถึงแม้ไม่ได้นำไปสู่มาตรการลงโทษ แต่สหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า การจัดทำรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ก็เพื่อกดดันให้รัฐบาลที่ถูกจับตาเหล่านี้ ดำเนินการปราบปรามการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังขึ้น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองสิทธิดังกล่าวนี้ให้ทันสมัย

ในกรณีของไทยนั้น รายงานล่าสุดนี้บอกว่า สหรัฐฯ ยังคงรู้สึกกังวลอย่างแรงกล้าจากการที่ไทยล้มเหลวไม่ได้ทำให้ความริเริ่มต่างๆ จำนวนมากที่ได้เริ่มเอาไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านๆ มา ได้เดินหน้าบรรลุผลอย่างสมบูรณ์ โดยที่ยังมีร่างกฎหมายสำคัญๆ จำนวนมากที่ยังคั่งค้างอยู่ เป็นต้นว่า ร่างกฎหมายระบุความผิดของเจ้าบ้านที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, การแก้ปัญหาการลักลอบถ่ายภาพยนตร์ที่กำลังฉายในโรงภาพยนตร์, การทำตามมาตราต่างๆ ของสนธิสัญญา WIPO Internet Treaties

พร้อมกันนั้นวอชิงตันก็ต้องการให้กรุงเทพฯใช้ความพยายามให้มากกว่านี้อีกในการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และการปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า

สำหรับเรื่องที่ไทยดำเนินการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Lisensing หรือ CL) กับ ยาหลายรายการ ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลอันใหญ่โตของกลุ่มอุตสาหกรรมยา มีความไม่พอใจและพยายามทัดทานเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างถนัดเปิดเผยนัก เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องสุขภาพ และชาติกำลังพัฒนาจำนวนมากต่างสนับสนุนการกระทำของไทยอย่างแข็งขัน

ปรากฏว่าในรายงานล่าสุดนี้ ยูเอสทีอาร์ก็ระบุถึงเรื่อง CL นี้เอาไว้อย่างอ้อมๆ เพียงว่า “สหรัฐฯยังคงสนับสนุนให้ไทยเข้ามีปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมายและโปร่งใส กับทุกๆ ส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าของสิทธิบัตรยาด้วย ในเวลาที่ไทยจะพิจารณาหาวิธีรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศ ขณะเดียวกับที่ธำรงรักษาระบบสิทธิบัตรซึ่งเป็นการส่งเสริมการลงทุน, การวิจัย และนวัตกรรม”

ในกรณีของประเทศอื่นๆ แคนาดา หนึ่งในสมาชิกข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ และเม็กซิโก ติดโผประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยรายงานระบุว่าส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวของแดนใบเมเปิลในการปฏิรูปกฎหมายลิขสิทธิ์

ยูเอสทีอาร์เสริมว่า จะทบทวนสถานะของแคนาดา หากออตตาวาออกกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่รอคอยมานาน รายงานยังเรียกร้องให้แคนาดาดำเนินมาตรการเคร่งครัดขึ้นเพื่อต่อสู้การละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต และเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการจับกุมสินค้าปลอมแปลงที่ด่านพรมแดน

ทางด้านรัสเซียนั้นมีชื่อในบัญชีนี้เป็นปีที่ 16 ติดกัน ส่วนจีนติดโผมา 8 ปี และอยู่ภายใต้โครงการติดตามตรวจสอบเป็นพิเศษภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 306 นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990

ส่วนยูเครนนั้นถูกขึ้นบัญชีครั้งแรกนับจากปี 2007 ยูเอสทีอาร์แจงว่า ยูเครนมีความคืบหน้าน้อยมากในการดำเนินแผนการปฏิบัติปี 2010 เพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์และการปลอมแปลงสินค้า

ในทางตรงข้าม เอกอัครราชทูตเคิร์กแสดงความยินดีกับมาเลเซียและสเปนที่ถูกถอดออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง

มาเลเซียถูกลบชื่อออก เนื่องจากมีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการปกป้องและบังคับใช้กฎหมายสินทรัพย์ทางปัญญา และการออกข้อบังคับปกป้องข้อมูลการทดสอบเวชภัณฑ์

สำหรับสเปนนั้น ยูเอสทีอาร์ระบุว่า เนื่องจากการออกข้อบังคับปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น