เอเจนซี - ผู้ประกอบการและนักการศึกษาผู้กล้ากลุ่มหนึ่ง กำลังทั้งผลักทั้งดันให้เด็กอเมริกันหันมาสนใจคณิตศาสตร์ โดยใช้เกม การแข่งขัน พิพิธภัณฑ์ และการเดินทาง เพื่อทำให้เลขน่าสนใจ มีส่วนร่วมได้ และสนุกสนาน
เกลนน์ วิทนีย์ นักคณิตศาสตร์ที่พัฒนาอัลกอริธึมสำหรับกองทุนบริหารความเสี่ยง ชี้ว่าอเมริกามีปัญหาทางวัฒนธรรมกับคณิตศาสตร์ โดยมองว่าคณิตศาสตร์น่าเบื่อและเป็นผลงานของคนกรีกที่ตายมาหลายพันปีแล้ว
ในบรรดาแผนการริเริ่มเพื่อปลุกเสน่ห์คณิตศาสตร์ในสายตาเด็กๆ มีดังเช่น การแข่งขันเลียวร์ ออฟ เดอะ เลบี้รินท์ (Lure of the Labyrinth) ที่ออกแบบโดยสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ท้าทายเด็กๆ นำทางปีศาจในระบบออนไลน์ ด้วยการแก้โจทย์คณิตศาสตร์และตรรกะ ผู้ชนะการแข่งขันที่จะมีขึ้นในเดือนนี้จะได้รับแท็บเล็ต
สัปดาห์ที่แล้ว ไดเมนชันยู บริษัทเกมออนไลน์ เปิดทัวนาเมนต์ใหม่ ดียู เดอะ แมท (DU the Math) ชักชวนเด็กเล่นเกมคณิตศาสตร์ฟรีเพื่อชิงรางวัลการเรียนดนตรีกับป็อปสตาร์วัยทีน เกรย์สัน แชนซ์, การใช้เวลาหนึ่งวันกับวงดัง ไมนด์เลส บีแฮฟวิเออร์ หรือตั๋วคอนเสิร์ตร็อก
แต่ความพยายามที่หนักแน่นที่สุดน่าจะมาจากวิทนีย์ที่ระดมทุน 22 ล้านดอลลาร์สร้างพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์ที่จะเปิดให้บริการฤดูใบไม้ร่วงนี้ที่นิวยอร์กซิตี โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ผู้เยี่ยมชมสัมผัสถึงพลังและความงดงามของคณิตศาสตร์
“คณิตศาสตร์ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”
ความพยายามเหล่านี้เกิดจากการตระหนักว่าเยาวชนอเมริกันล้าหลังเด็กชาติอื่น แม้ทักษะคณิตศาสตร์มีความสำคัญมากขึ้นในกิจการต่างๆ ไม่ว่าด้านการผลิตจนถึงสุขอนามัย และการเงิน
ทั้งนี้ นักเรียนประถมและมัธยมต้นในอเมริกาทำคะแนนการทดสอบคณิตศาสตร์ระดับโลก ได้สูงกว่าคะแนนเฉลี่ย แต่ยังต่ำกว่าสิงคโปร์และญี่ปุ่นที่เก่งเลขชนิดหาตัวจับยาก ครั้นเมื่อถึงอายุ 15 ปี เด็กอเมริกันกลับทำคะแนนต่ำกว่าสโลวีเนีย ฮังการี และไอซ์แลนด์ (แต่ยังมีคะแนนสูงกว่าเฉลี่ยในวิชาวิทยาศาสตร์ และการอ่าน)
รายงานการตรวจสอบแนวโน้มวิชาคณิตศาสตร์ของอลัน โชนเฟลด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กเลย์ ระบุว่า อเมริกาเริ่มผลักดันวิชาคณิตศาสตร์ในช่วงการแข่งขันด้านอวกาศปลายทศวรรษ 1950 และ 1960 แต่มาหลังยุคสปุตนิก คณิตศาสตร์กลับถูกมองเป็นวิชาของชนชั้นสูงเท่านั้น จนมาถึงช่วงกลางทศวรรษ 1980 มลรัฐต่างๆ กำหนดให้นักเรียนมัธยมปลายเรียนคณิตศาสตร์เพียง 1-2 ปี
รายงานจากกระทรวงศึกษาธิการสำทับว่า แม้กระทั่งปัจจุบันโรงเรียนมัธยมปลายหลายแห่งยังไม่มีการสอนคณิตศาสตร์ขั้นสูง
นักการศึกษายอมรับว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือแนวทางในการสอนเลขแบบดั้งเดิม กล่าวคือแม้มีความพยายามในการปฏิรูปเป็นระยะ แต่การเรียนการสอนคณิตศาสตร์มักเน้นหนักทักษะการคำนวณและสูตรต่างๆ มากเกินไป จนแทบไม่เหลือเวลาให้การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
กระนั้นมีความพยายามริเริ่มผลักดันคณิตศาสตร์เกิดขึ้นในหลายมลรัฐ และเกือบทั้งหมดได้ปรับใช้มาตรฐานหลักสูตร “วิชาแกน” เพื่อเน้นการคิดหาเหตุผลและการแก้ปัญหา ไม่ใช่การคำนวณ
เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่องถ่ายนี้ องค์กรธุรกิจและมูลนิธิสำคัญ เช่น กูเกิล, มูลนิธิบิลล์ และเมลินดา เกตส์, คาร์เนกี คอร์เปอเรชัน ได้ทุ่มเงิน 24 ล้านดอลลาร์เพื่อรับสมัครและฝึกครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใหม่ 100,000 คนในทศวรรษหน้า
ในระดับที่เล็กลงมาจะมีการออกหนังสือเรขาคณิตใหม่ในช่วงฤดูร้อนชื่อว่า “เกิร์ลส์ เก็ต เคิร์ฟส์” (Girls Get Curves) เพื่อสอนคณิตศาสตร์เด็กหญิงโดยใช้ข้อความที่เข้าใจง่ายและสไตล์สบายๆ แนวแมกกาซีน โดยเป็นผลงานของแดนิกา แมกเคลลาร์ นักแสดงหญิงและบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งสาขาคณิตศาสตร์จากยูซีแอลเอ
ความพยายามทั้งหมดนี้จะโน้มน้าวให้เด็กอเมริกันหันมาสนใจคณิตศาสตร์ได้หรือไม่คงต้องรอดูกันต่อไป
แต่สำหรับ เจ. ไมเคิล ชอเนสซี ประธานสภาครูคณิตศาสตร์แห่งชาติ เขามองว่านี่เป็นเรื่องของการปฏิวัติวัฒนธรรม
ทุกครั้งที่ได้ยินพ่อแม่พูดกับลูกว่า “พ่อทำได้โดยไม่ต้องใช้คณิตศาสตร์” หรือ “ลูกไม่จำเป็นต้องรู้จักคณิตศาสตร์หรอก” ชอเนสซีจะขัดจังหวะอย่างสุภาพทันที
“เพราะคำพูดเหล่านั้นเท่ากับอนุญาตให้เด็กไม่ต้องใช้ความพยายามให้มากพอในวิชานี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งท้าทายสำหรับทุกคน และคำพูดแบบนั้นสามารถสร้างความเสียหายในระดับชาติได้”