xs
xsm
sm
md
lg

วอชิงตันลั่นพร้อมผ่อนปรนแซงก์ชันฟื้นสัมพันธ์ทูตตบรางวัลปฏิรูปพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง แห่งพม่า
เอเจนซีส์ - อเมริกาพร้อมผ่อนคลายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรพม่าเป็นบางส่วน เช่น การห้ามบริษัทอเมริกันลงทุนหรือให้บริการทางการเงินในแดนหม่อง เพื่อมอบเป็นรางวัลสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย กระนั้น “คลินตัน” เผยวอชิงตันต้องการดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เนื่องจากกระบวนการปฏิรูปในพม่ายังไม่ชัดเจนและไร้ความแน่นอน

ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันพุธ (4) ยกย่องการแสดงออกถึงเจตนารมณ์อย่างยิ่งใหญ่ของประชาชนพม่า รวมทั้งชมเชยความเป็นผู้นำและความกล้าหาญของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ภายหลังการจัดการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันอาทิตย์ (1) ที่เปิดทางให้อองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ได้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ขณะที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยกวาด43 จาก 44 ที่นั่งซึ่งมีผู้สมัครของพรรคลงแข่งขัน ในจำนวนที่นั่งที่มีการเลือกตั้งซ่อมคราวนี้ทั้งสิ้น 45 ที่นั่ง

การผ่อนคลายมาตรการลงโทษที่คลินตันเปิดเผยครั้งนี้ ถือเป็นขั้นตอนแรกในการยกเลิกมาตรการแซงก์ชันอันซับซ้อนของสหรัฐฯ ที่ประกาศใช้กับพม่ามายาวนานหลายสิบปี

คลินตันประกาศว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการตามพิธีการต่างๆ ภายใน “ไม่กี่วัน” เพื่อแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำในพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ทศวรรษ ตั้งออฟฟิศของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ยูเสด) เพื่อหาทางส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือประจำปีมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในพม่า

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมุ่งมั่นในการเริ่มกระบวนการผ่อนคลายการห้ามการส่งออกบริการการเงินและการลงทุนของสหรัฐฯ ไปยังพม่า อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อช่วยเร่งรัดการปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจแดนหม่อง

คลินตันเสริมว่า สหรัฐฯ พร้อมอนุญาตให้กลุ่มความช่วยเหลือภาคเอกชนของสหรัฐฯ ทำโครงการที่ไม่หวังผลกำไรในพม่า เช่น การเสริมสร้างประชาธิปไตย สุขอนามัย และการศึกษา รวมทั้งอนุญาตเจ้าหน้าที่และสมาชิกรัฐสภาพม่าบางคนเดินทางเยือนอเมริกา และผ่อนคลายการแบนวีซ่า

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำว่า อเมริกาต้องการให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ยกเลิกการจำกัดสิทธิ์ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว สร้างความปรองดองภายในชาติ โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยที่ถูกรัฐบาลกลางกดขี่มานาน รวมทั้งยุติความสัมพันธ์ทางทหารกับเกาหลีเหนือ

“กระบวนการปฏิรูปยังยาวไกล อนาคตยังไม่ชัดเจนและไร้ความแน่นอน แต่เราจะยังคงติดตามพัฒนาการในพม่าอย่างใกล้ชิด และอย่างที่ดิฉันเคยกล่าวไว้ขณะเยือนพม่าว่า การดำเนินการใดๆ จะต้องมีการดำเนินการมาแลกเปลี่ยนด้วย” คลินตันแถลง

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า รัฐบาลกำลังตัดสินใจมาตรการและกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญอันดับแรกคือ อนุญาตให้ใช้บัตรเครดิตในพม่า หนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มาสเตอร์การ์ด วีซ่า และอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ไม่เคยได้รับการยอมรับ

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งเผยว่า อุตสาหกรรมที่อาจได้รับการผ่อนคลายมีอาทิ เกษตรกรรม การท่องเที่ยว โทรคมนาคม และการธนาคาร แต่สำทับว่า นี่เป็นเพียงความเป็นไปได้เท่านั้นและยังไม่มีการตัดสินใจแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยืนยันว่า รัฐบาลจะเน้นผ่อนคลายการคว่ำบาตรเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงการให้ผลประโยชน์แก่บางภาคบางอุตสาหกรรม ซึ่งอาจรวมถึงป่าไม้และอัญมณีที่ผูกขาดโดยเจ้าหน้าที่เผด็จการบางคน

นอกจากนี้ ขณะที่การผ่อนคลายบางอย่างสามารถยกเลิกได้ด้วยการออกคำสั่ง แต่บางส่วนยังขึ้นอยู่กับความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ตั้งแต่การค้ายาเสพติดและการฟอกเงิน เพื่อป้องกันการใช้ทหารเด็ก ในระยะแรก วอชิงตันมีแผนใช้การยกเว้น การให้ใบอนุญาต และขั้นตอนอื่นๆ เพื่อผ่อนคลายการลงโทษแทนการเพิกถอนกฎหมายไปทั้งหมด

วอลเตอร์ โลห์แมน จากมูลนิธิเฮอริเทจ กลุ่มคลังสมองสายอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ ยินดีต่อท่าทีล่าสุดของวอชิงตัน โดยระบุว่า บางขั้นตอนควรรอจนถึงหลังการเลือกตั้งในพม่าในปี 2015 ที่จะมีการเปิดรับสมัครสมาชิกรัฐสภา 75% และว่า ตนเห็นด้วยกับการผ่อนคลายการแบนวีซ่า การเปิดสำนักงานยูเสด และการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำ แต่ขอสงวนท่าทีในส่วนการผ่อนคลายการลงโทษทางการเงินจนกว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติม

ทว่า อองติน ประธานกลุ่มที่ปรึกษายูเอส แคมเปญ ฟอร์ เบอร์มา ที่ช่วยผลักดันมาตรการลงโทษพม่า มองว่า อเมริกาอาจผ่อนคลายมากเกินไปและเร็วเกินไปเมื่อพิจารณาจากการที่เอ็นแอลดีได้ที่นั่งในสภาเพียง 7% และหวังว่า วอชิงตันจะชะลอเวลาในการผ่อนคลายการลงโทษเพื่อให้มั่นใจว่า พัฒนาการทางการเมืองจะไม่ถอยกลับ รวมทั้งปรึกษาหารือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชน
กำลังโหลดความคิดเห็น