xs
xsm
sm
md
lg

Focus: เว็บไซต์ตอลิบานเปิดคอลัมน์ “ถาม-ตอบ” ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างหน้าแรกของเว็บไซต์ วอยซ์ ออฟ ญิฮาด
เอเอฟพี - หากใครสงสัยว่าจะโพสข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานลงบนเฟสบุ๊กได้หรือไม่? นักรบพลีชีพสังหารผู้บริสุทธิ์จริงหรือเปล่า? เว็บไซต์ของกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถานได้เปิดคอลัมน์ถาม-ตอบ เพื่อช่วยไขข้อข้องใจเหล่านี้ให้กับผู้อ่านแล้ว

วอยซ์ ออฟ ญิฮาด ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน (Islamic Emirate of Afghanistan) หรือ ตอลิบาน เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสามารถฝากคำถามไปถึง ซาบิฮุลเลาะห์ มูญาฮิด ซึ่งเป็นโฆษกของกลุ่มได้

บริการใหม่นี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเชิงทัศนคติที่กลุ่มก่อการร้ายมีต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่

ในยุคที่ตอลิบานเรืองอำนาจ โทรทัศน์ถือเป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากเป็นสื่อเผยแพร่รายการที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักอิสลาม และตอลิบานถึงกับเคยนำโทรทัศน์ไปแขวนบนต้นไม้ด้วยสายวีดีโอเทปมาแล้ว

แต่ในปัจจุบัน ตอลิบานเปิดรับสื่อสังคมออนไลน์อย่างเต็มที่ และมี “ทวิตเตอร์” ประจำกลุ่ม ดังจะเห็นว่าโฆษกของนาโตกับตอลิบานเคยทุ่มเถียงกันผ่านสื่อออนไลน์อยู่เป็นบางครั้ง

เมาลาวี กอลามุดดิน อดีตหัวหน้ากองกำลัง “ความชั่วและความดี” ของตอลิบาน ซึ่งทำหน้าที่เฆี่ยนสตรีที่ไม่สวมผ้าคลุมหน้าและกักขังชายมุสลิมที่ไม่ยอมไว้เครา เผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า ที่บ้านตนมีโทรทัศน์อยู่ถึง 2 เครื่อง

เนื้อหาส่วนใหญ่ของ วอยซ์ ออฟ ญิฮาด จะเป็นการประณามรัฐบาลคาบูลว่า “ตกเป็นทาสและหุ่นเชิด” ของตะวันตก เป็นพวก “สับปลับ” และ “ศัตรูของอิสลาม” นอกจากนี้ยังอ้างความสำเร็จเกินจริงในปฏิบัติการก่อความไม่สงบที่ยาวนานนับ 10 ปี

ทุกคำตอบที่โพสบนเว็บไซต์มีลีลาการเขียนที่เหมือนกัน และน่าจะเขียนโดยบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งเปิดเผยรายละเอียดเพียงว่า แต่งงานแล้ว, อยู่ในวัยกลางคน และชอบอาหารฮาลาลทุกประเภท แต่ไม่เผยประวัติส่วนตัวมากกว่านี้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

คำถามส่วนใหญ่มาจากผู้สนับสนุนตอลิบานเอง ซึ่งมักเข้ามาสรรเสริญเยินยอ หรืออวยพรให้พวกเขาได้รับชัยชนะใน “สงครามศักดิ์สิทธิ์กับพวกครูเสด”

อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านคนหนึ่งซึ่งใช้ชื่อว่า ฮาซีบุลเราะห์มาน เข้ามาตั้งคำถามที่แปลกออกไปว่า “พวกคุณไม่คิดบ้างหรือว่าการฆ่าคนเหล่านี้ด้วยระเบิดพลีชีพถือเป็นบาปใหญ่? คุณคิดไหมว่าอัลเลาะห์จะทรงเอาผิดกับใคร?”

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ปีที่แล้วมีพลเรือนเสียชีวิตไปกว่า 3,000 คนจากเหตุความไม่สงบในอัฟกานิสถาน ซึ่งกว่า 3 ใน 4 ถูกสังหารด้วยน้ำมือตอลิบานหรือกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ

มูญาฮิด ตอบว่า การที่มีผู้เสียชีวิตมากมายเช่นนี้เป็น “ความผิดพลาดทางเทคนิค”

“ผมเห็นด้วยว่า การสังหารพลเรือนเป็นสิ่งที่รับไม่ได้เลย แต่อย่าลืมว่า บางครั้งพลเรือนก็ถูกฆ่าจริง แต่บางครั้งก็เป็นแค่แผนโฆษณาชวนเชื่อของศัตรูเท่านั้น”

“ความจริงก็คือ พลเรือนส่วนใหญ่ถูกฆ่าระหว่างปฏิบัติการของฝ่ายศัตรู ผมตอบคุณได้อย่างมั่นใจว่า นักรบมูญาฮิดีนของเราไม่เคยจงใจสังหารพลเรือน แต่เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค หรือโจมตีผิดเป้าหมายเท่านั้น”

ชาติตะวันตกพยายามริเริ่มเจรจากับกลุ่มตอลิบานเพื่อยุติความขัดแย้ง ก่อนที่กองกำลังนานาชาติจะเดินทางออกจากอัฟกานิสถานในปี 2014

ตอลิบานเคยแถลงว่า จะเปิดสำนักงานในกาตาร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจา ทว่าต่อมาก็ระงับแผนดังกล่าวเสีย

ผู้อ่านเว็บซึ่งใช้ชื่อว่า อะห์มัด เอียะห์ซาน ตั้งคำถามเกี่ยวกับแผนเจรจาสันติภาพว่า “การทำข้อตกลงสันติภาพกับตะวันตกจะไม่เป็นการทรยศพวกเราที่เสียชีวิตไปตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผู้ที่อุทิศทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปแล้วมากมายหรือ?”

มูญาฮิด ตอบว่า “นี่ไม่ใช่การประนีประนอมกับพวกเขา แต่เป็นการบรรลุจุดมุ่งหมายด้วยวิธีอื่น”

คำถามส่วนใหญ่เขียนด้วยภาษาพาชตู ซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มชนชาติที่สนับสนุนตอลิบานมากที่สุด

อิสลามิสต์ที่เผยแผ่พระวจนะจากคัมภีร์อัลกุรอานผ่านสื่อออนไลน์ ก็มาฝากคำถามคาใจไว้เช่นกัน

“ผมโพสข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอานและอัล-ฮะดีษ (ถ้อยคำของศาสดามูฮัมมัด) ลงบนเฟสบุ๊ก แต่บางคนบอกว่า ผมทำอย่างนี้ไม่ดี มันจะเรียกว่าเป็นญิฮาดได้ไหม?” ผู้อ่านที่ใช้ชื่อ ออรังเซบ ตั้งคำถาม

มูญาฮิด ตอบว่า “ญิฮาดมีหลากหลายประเภท รวมไปถึงการญิฮาดด้วยปากกา ขออัลเลาะห์ทรงบันดาลให้การทำญิฮาดของคุณประสบผลสำเร็จ ผมเห็นด้วยที่คุณใช้อินเทอร์เน็ตไปในหนทางของอิสลาม”
กำลังโหลดความคิดเห็น