เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์รัสเซียและเกาหลีใต้ เมื่อวันอังคาร (13) ลงนามในข้อตกลงวิจัยร่วมเพื่อปลุกชีพช้างแมมมอธ สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปจากโลกเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน
ข้อตกลงดังกล่าวลงนามโดย นายวาซิลี วาซิเลียฟ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-อีสเทิร์น เฟเดอรัล แห่งสาธารณรัฐปกครองตนเองซาฮา และ นายฮวาง วู-ซุค นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกการโคลนนิงแห่งมูลนิธิวิจัยซูอัม ไบโอเทค ของเกาหลีใต้
นายฮวาง วู-ซุค เคยถูกยกเป็นวีรบุรุษของชาติจนกระทั่งปี 2006 หลังพบว่า ข้อกล่าวอ้างของเขาที่ว่าประสบความสำเร็จในการวิจัยสร้างสเต็มเซลล์ของมนุษย์ผ่านการโคลนนิงเป็นครั้งแรกคือเรื่องที่ปั้นแต่งขึ้นมา แต่งานของเขาในการสร้าง “สนัปปี” สุนัขโคลนนิงตัวแรกของโลกในปี 2005 ก็ได้รับการยืนยันทำสำเร็จจริงจากเหล่าผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตาม เวลานี้เหล่านักวิทยาศาสตร์สเต็มเซลล์กำลังมองไปที่ช้างแมมมอธขนปุย หลังจากภาวะโลกร้อนทำชั้นดินเยือกแข็งคงตัวของไซบีเรียละลายจนพบซากซากช้างแมมมอธตัวหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นซากช้างสายพันธุ์นี้ที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา
มูลนิธิวิจัยซูอัม ไบโอเทค เผยว่า จะเริ่มงานวิจัยในปีนี้ทันทีที่มหาวิทยาลัยรัสเซียส่งซากช้างแมมมอธมาให้ ขณะที่ทางสถาบันถอดรหัสพันธุกรรมแห่งกรุงปักกิ่งก็จะเข้าร่วมโครงการด้วย
ทั้งนี้ มูลนิธิของเกาหลีใต้ เผยว่า จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่มหาวิทยาลัยรัสเซียเป็นการแลกเปลี่ยน หลังจากในปัจจุบันหาวิทยาลัยแดนหมีขาวแห่งนี้ก็ได้ทำการวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเพื่อฟื้นคืนชีพช้างแมมมอธเช่นกัน
ฮวาง อิน-ซอง นักวิจัยของซูอัมกล่าวกับเอเอฟพี ว่า “งานแรกและยากที่สุด คือ การปลุกชีพให้กับเซลล์ช้างแมมมอธ” พร้อมเผยว่า ทีมงานของเขาจะร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์รัสเซียพยายามค้นหาเนื้อเยื่อที่ยังอยู่ในสภาพดีโดยที่ยีนไม่ได้รับความเสียหาย
พร้อมกันนั้น เขาแสดงความมั่นใจว่าแม้เป็นงานที่ยาก แต่เชื่อว่ามีทางเป็นไปได้เพราะสถาบันซูอัมมีชื่อเสียงในการโคลนสัตว์สำเร็จมาแล้วหลายชนิด เช่น วัว แมว สุนัข สุกร และ หมาป่า