เอเอฟพี - ด้วยเครื่องแบบพนักงานใหม่เอี่ยมและใบหน้าที่ตบแต่งจนงามไร้ที่ติ มิว ดูเฉิดฉายไม่ต่างจากแอร์โฮสเตสคนอื่นๆ แต่ความจริงแล้วเธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงข้ามเพศเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เป็น “นางฟ้า” บนสายการบิน ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงจำนวนไม่น้อย
นับเป็นปรากฎการณ์แปลกใหม่ของวงการการบิน เมื่อสายการบิน พีซี แอร์ ซึ่งมีฐานการบินในไทย ประกาศรับสมัครและคัดเลือกผู้หญิงข้ามเพศ 4 คนมาเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่อง ซึ่งทำให้เกิดกระแสถกเถียงกันอย่างหนักว่า นี่เป็นนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ หรือเป็นแค่การแสวงหาผลประโยชน์
“ฉันชอบงานที่ได้แสดงความสามารถของตัวเอง และชอบใส่เครื่องแบบสวยๆด้วย” พันธกานต์ ศรีเงิน หรือ “น้องมิว” เผยระหว่างปฏิบัติหน้าที่บนเที่ยวบินพาณิชย์เที่ยวแรก จากกรุงเทพมหานครไปยังปลายทางเกาะฮ่องกง
“ฉันรู้สึกเหมือนฝันเป็นจริง และอาจจะเป็นก้าวแรกสำหรับผู้หญิงข้ามเพศและบุคคลข้ามเพศ ที่จะได้มีอาชีพที่ดีในอนาคต” แอร์สาววัย 25 ปี กล่าว
มิว และเพื่อนพนักงานในเครื่องแบบสีดำพร้อมผ้าพันคอสีส้ม นำทางผู้โดยสารไปยังที่นั่ง, สาธิตการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัย และเสิร์ฟกาแฟแก่ผู้โดยสาร โดยไม่มีสิ่งใดบ่งบอกว่าเธอแตกต่างจากพนักงานคนอื่นตรงไหน
ผู้โดยสารบางคนที่ทราบข่าวจากโฆษณาของ พีซีแอร์ มาก่อน ขอถ่ายรูปกับพวกเธอบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่าพนักงานสาวสวยกลุ่มนี้แปลกกว่าแอร์โฮสเตสทั่วไปอย่างไร
“อ้าว... ผมไม่รู้มาก่อนเลย” ผู้โดยสารคนหนึ่ง เผย
“พวกเขาสวยมาก และเอาใจใส่ผู้โดยสารดีด้วย ผมว่าก็ดีนะ”
วัฒนธรรมไทยค่อนข้างเปิดรับเรื่องเพศและรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน ขณะที่ “กะเทย” ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน และได้รับการยอมรับว่าเป็น “เพศที่สาม”
แม้กระนั้น คนที่มีใจอนุรักษ์นิยมบางกลุ่มยังรู้สึกยากที่จะยอมรับพวกเขา บางครอบครัวถึงกับส่งลูกหลานไปบวชเพื่อ “รับการสั่งสอนใหม่” และคนข้ามเพศก็ยังถูกกีดกันในหลายสาขาอาชีพ
“ใจฉันอยากเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมาตลอด และคอยโอกาสนี้มานาน” ชญาธิสา นาคใหม่ หรือ “น้องนัน” วัย 24 ปี เผย
เธอบอกด้วยว่า “ทุกวันนี้สายการบินอื่นๆยังรับแต่ชายจริงหญิงแท้เท่านั้น ไม่มีที่สำหรับคนข้ามเพศ”
นักเคลื่อนไหวบางคนออกมาชื่นชมนโยบายของ พีซีแอร์ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลข้ามเพศได้มีอาชีพเหมือนคนทั่วไป ขณะที่บางคนยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเจตนาของ พีซีแอร์ ซึ่งพยายามโปรโมตการว่าจ้างผู้หญิงข้ามเพศให้สังคมรับรู้
“สายการบินนี้ช่วยสนับสนุนภาพลักษณ์ที่ดีของสาวประเภทสองในไทย ให้พ้นจากทัศนคติด้านลบในสังคม” เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา เลขานุการศูนย์ข้อมูลความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย (ทีคิวอาร์ซี) ระบุ
ยลลดา เกริกก้อง สวนยศ นายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นต่างไปว่า “พวกเขาเพียงต้องการหาประโยชน์จากความแปลกประหลาด และความตลกของผู้หญิงข้ามเพศ”
“นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่า สังคมยังมองคนกลุ่มนี้ว่าแปลกประหลาด มาดูนี่สิ! นี่ไงแอร์โฮสเตส!” เธอกล่าว
ประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธไม่มีการกดดันเพศที่สามเหมือนในความเชื่อแบบคริสต์-ยิว แต่คนไทยในอดีตก็รับอิทธิพลจากตะวันตก ซึ่งมองว่าคนกลุ่มนี้ “ป่วยทางจิต” และผลที่ตามมาก็คือ “การกีดกันทั้งในเชิงปฏิบัติและเชิงการปกครอง” ต่อกลุ่มเพศที่สาม ซึ่งมีอยู่เกือบ 180,000 คน แซม วินเทอร์ นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเพศ จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง อธิบาย
เนื่องจากลู่ทางประกอบอาชีพมีน้อย บุคคลข้ามเพศในไทยจึงต้องหันไปขายบริการทางเพศเพื่อหาเลี้ยงชีพ และเพื่อ “โอกาสเพียงน้อยนิดที่จะได้ยืนยันสถานะความเป็นผู้หญิง” วินเทอร์ เผย
แม้จะผ่านการผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว แต่กฎหมายก็ยังไม่ยอมรับว่า มิว และเพื่อนของเธอมีสถานะทางเพศเป็นหญิง ดังนั้น พีซีแอร์ จึงต้องประสานงานกับประเทศปลายทางล่วงหน้า เพื่อป้องกันความสับสนที่จุดตรวจคนเข้าเมือง
ปีเตอร์ ชาน ประธานพีซีแอร์ เผยว่า รู้สึกภูมิใจที่สายการบินของตนเป็นที่แรกที่เปิดโอกาสสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ พร้อมปฏิเสธว่าไม่มีเจตนาใช้พวกเธอเป็นจุดขาย แต่มีพื้นฐานนโยบายมาจาก “จิตใจ” และ “สิทธิมนุษยชน”
“เราไม่เคยคิดเรื่องเงิน” ชาน วัย 48 ปีกล่าว พร้อมหยิบยกเนื้อเพลง “มาย เวย์” ของ แฟรงก์ ซินาตรา ขึ้นมาสนับสนุนคำพูดของตน
สโลแกน “ไอ บิลีฟ อิตส์ มาย เวย์” ยังถูกเพนท์ไว้บนเครื่องบินของ พีซีแอร์ ทุกลำด้วย
มิว ซึ่งผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิงมานานถึง 2 ปีแล้ว หวังว่า บริษัทอื่นๆจะหันมาใช้นโยบายเดียวกับ พีซีแอร์ ไม่ว่าจะเป็นสายการบินหรือภาคธุรกิจอื่นๆก็ตาม
“บางทีในอนาคต ผู้หญิงข้ามเพศและบุคคลข้ามเพศอาจจะมีโอกาสเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือแม้แต่เป็นนายกรัฐมนตรี” เธอกล่าว