ผู้หญิงข้ามเพศแห่สมัครโครงการ Sister’s Hand “จิ๋มเอื้ออาทร” ครั้งที่ 2 เนืองแน่น คัด 5 คนเหมาะสมผ่าตัดแปลงเพศฟรี “นก-ยลลดา” วอนสังคมเข้าใจว่า GID เป็นโรคอย่างหนึ่งที่จิตใจไม่ตรงเพศสภาพ และต้องได้รับการรักษา ระบุ หลายประเทศให้รัฐสวัสดิการผ่าให้ฟรี เผยเตรียมเดินหน้าต่อยอดก่อตั้งมูลนิธิเพื่อส่งผู้หญิงข้ามเพศเรียนแพทย์ด้านศัลยศาสตร์ หวังสร้าง “แพทย์ผู้หญิงข้ามเพศ” ช่วยผ่าตัดแปลงเพศเพิ่มขึ้น
วันนี้ (24 ก.พ.) ณ ที่ทำการสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย พัฒนาการ 20 นายยลลดา เกริกก้อง สวนยศ หรือที่รู้จักกันในนาม “นก-ยลลดา” ในฐานะนายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทย เปิดตัวโครงการ Sister’s Hand “จิ๋มเอื้ออาทร” ครั้งที่ 2 โดยระบุว่า เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงข้ามเพศ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรค Gender Identity Disorders (GID) คือ บุคคลที่มีความผิดปกติด้านอัตลักษณ์ทางเพศ มีสภาพจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพของตนเอง ที่ทางการแพทย์ถือว่าเป็นอาการป่วยและต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งจะคัดจากผู้สมัครทั้งหมดจำนวน 5 คน เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศฟรี
“โครงการนี้มีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีที่แล้วก็คัดเลือกมา 5 คน ปีนี้อีก 5 คน ปีที่แล้วที่มาสมัคร คืออายุ 14 ปี และที่มากที่สุด คือ 60 ปี ปีที่แล้วในเรื่องของการผ่าตัดเราได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศัลยกรรม PAI ส่วนในปีนี้เป็น รพ.ยันฮี โครงการนี้เป็นโครงการแรกในประเทศไทย และน่าจะเป็นโครงการแรกของโลก แต่หลายประเทศมีรัฐสวัสดิการผ่าฟรีสำหรับผู้ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศแบบนี้ ที่เราทำโครงการนี้ขึ้นมาก็เพราะอยากช่วยเหลือผู้หญิงจริงๆ ที่เกิดมาในร่างของผู้ชาย แต่เขารู้สึกตั้งแต่เกิดว่าเขาเป็นผู้หญิง แต่ถูกขังไว้ในเพศสภาพที่ไม่ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทรมานมาก”
นายกสมาคมสตรีข้ามเพศ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจะมี 3 ขั้นตอน คือคัดเลือกโดยคนของสมาคม ขั้นตอนที่ 2 คือ คัดกรองจากสื่อที่เข้ามาร่วมโครงการ และสามคือ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งหลักใหญ่ในการคัดเลือก คือ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด จะไม่ใช้เพศสภาพหลังการผ่าตัดไปทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่นในด้านของเชิงพาณิชย์ ส่วนในประเด็นของผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้ารับการผ่าตัดในปีที่แล้ว ที่มีเด็กชายวัย 14 ปีด้วยนั้นนายยลลดากล่าวว่า ตามกฎหมายต้องรอให้เด็กอายุครบ 20 ปี หรือหาก 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองเซ็นยินยอมให้ผ่าตัดเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้ ระหว่างนี้หากเด็กชายเกิดเปลี่ยนใจหรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป อยู่ในเพศสภาพของตนเองได้ การผ่าตัดก็จะไม่เกิดขึ้น
“จริงๆ เราอยากช่วยน้องๆ ให้ได้ทุกคน ทุกเคสที่มาสะเทือนในหมดเลย ขอบพระคุณผู้สนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ก้าวต่อไปของสมาคมคือการก่อตั้งมูลนิธีช่วยเหลือด้านการศึกษา เราอยากส่งน้องๆ ของเราไปเรียนศัลยศาสตร์ กลับมาเป็นแพทย์ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ที่กลับมาแปลงเพศให้แก่ผู้หญิงข้ามเพศในประเทศไทย เหมือนที่ตรินิแดดก็มี แพทย์ที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ผ่าตัดใน Sex Change Hospital เพราะทุกวันนี้ในประเทศไทยมีผู้หญิงข้ามเพศประมาณ 3,000 ราย แต่มีเพียง 1,000 รายเท่านั้นที่เข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดแปลงเพศ”
ด้าน นางบุญศรี พรหมดวง ตัวแทนจากโรงพยาบาลยันฮี ระบุว่า ตามธรรมดาการผ่าตัดแปลงเพศจะใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง และผู้ป่วยต้องพักฟื้นและทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลอีก 14 วัน จึงจะออกจากโรงพยาบาลได้ จากนั้นจะติดตามอาการหลังผ่าตัดเป็นระยะ คือ 1 เดือน , 3 เดือน, 6 เดือน และ 1 ปีตามลำดับ ส่วนราคาการผ่าตัดแปลงเพศจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ซึ่งสำหรับผู้ร่วมโครงการ 5 คน จะได้รับการสนับสนุนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการนี้ได้มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและผ่าตัดแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว 2 คน มาเป็นตัวแทนบอกเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา คนแรก คือ นายชุติกาญจน์ จันต๊ะ หรือ “ป้าแสง” อายุ 54 ปี ชาวจังหวัดน่าน อาชีพรับจ้าง โดยเจ้าตัวระบุว่า ต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาพร่างกายที่ไม่ตรงกับจิตใจตลอด 54 ปี ไม่มีทางออก เพราะไม่มีเงินผ่าตัดแปลงเพศ แต่พอมาสมัครกับโครงการแล้วได้รับเลือกก็เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ ตอนแรกก็กลัวว่าจะผ่าไม่ได้เพราะอายุมากแล้วแต่เมื่อได้รับผลประกาศว่าผ่าตัดได้รู้สึกดีใจมาก
“ตอนผลทางการแพทย์ออกมา บอกว่า ผ่าตัดได้ดีใจจนความดันขึ้น ไม่รู้สึกกลัวการผ่าตัดเลย ถ้าจะตายก็ยอมตาย รู้สึกเป็นทุกข์กับร่างกายที่เหมือนไม่ใช่ของตัวเองมา 54 ปีแล้ว พอผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยรู้สึกมีความความสุข ที่ผ่านมา เราก็รู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิง แต่เราถูกขังในร่างผู้ชาย มันไม่ใช่ร่างของเรา พอผ่าตัดได้แบบนี้ รู้สึกมีความสุขมาก แล้วก็รู้สึกว่าเราจะมีร่างกายตรงตามจิตใจและความรู้สึกเสียที รอวันนี้มา 54 ปีเต็ม”
ในขณะที่ “รถเมล์ - นายทัฐสรางค์วอร มีสุข” อายุ 24 ปี อาชีพครูโรงเรียนกวดวิชาเอกชน 1 ในผู้ได้รับเลือกให้เข้ารับการผ่าตัด เปิดเผยทั้งน้ำตา ว่า รู้สึกทุกข์ทรมานและร้องไห้ทุกวันกับการที่ต้องอยู่ในร่างกายที่มีเพศสภาพเป็นผู้ชาย แต่หัวใจและความรู้สึกบอกตัวเองอยู่ตลอดว่าเป็นผู้หญิง และบางครั้งก็รู้สึกมืดมนหนทาง เพราะพยายามเก็บเงินเพื่อผ่าตัดแปลงเพศเอง แต่เก็บไม่ค่อยได้นัก เนื่องจากที่เมื่อเก็บเงินได้ก็ต้องช่วยจุนเจือครอบครัว ทำให้รู้สึกไม่มีทางออกจนเคยคิดฆ่าตัวตายให้พ้นจากความทุกข์นี้ แต่พอได้รับโอกาสนี้เหมือนเป็นทางสว่างให้ชีวิต