พบ “ทอม-ดี้-เลสเบี้ยน-เกย์” เสพติดโซเชียลเน็ตเวิร์ก-โทรศัพท์มือถือ หาคู่นอน หวั่นส่งผลต่อพฤติกรรมการเปลี่ยนคู่นอน เสี่ยงติดเอดส์ แนะใช้ประโยชน์ในเชิงบวก
รศ.ดร.พิมพวัลย์ บุญมงคล รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้านักวิจัย นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ในกลุ่มเยาวชนไทย” ภายในการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง โรคเอดส์ ครั้งที่ 13 จัดขึ้นที่อิมแพค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ปัจจุบันความชุกขอบการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มเยาวชน จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยทางด้านสังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรม รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งส่งผลต่อเพศวิถีและเพศภาวะของเยาวชนไทยอย่างชัดเจน ซึ่งจากการที่ทีมนักวิจัยได้ทำศึกษากลุ่มเยาวชน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ชายรักต่างเพศ 2.หญิงรักต่างเพศ 3.ผู้หญิงข้ามเพศ (TG) 4.ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย(MSM) และ 5.หญิงรักหญิง กลุ่มละประมาณ 15 คน จำนวนทั้งสิ้น 75 คน ระหว่างเดือน ธ.ค. 2553 - ก.พ. 2554 เพื่อให้เข้าใจลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม จากนั้นทำการเปรียบเทียบและศึกษาผลที่มีต่อพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ จากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต
รศ.ดร.พิมพวัลย์กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาแบ่งเป็น 8 ข้อ พบว่า 1.การใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะกลุ่มโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟน (smartphone) ที่สามารถเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตได้กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มเยาวชน 2.การใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงกับเพศวิถีของเยาวชนทุกกลุ่ม 3.การใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ขยายวงเพื่อน คู่นอน และคู่รักของเยาวชนไทย 4.ชนชั้นส่งผลต่อรูแบบการใช้เทคโนโลยีและเพศวิถีอย่างชัดเจน 5.รูปแบบการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในกลุ่มเอ็มเอสเอ็น มีค่านิยมของการใช้เทคโนโลยีล่าสุด อย่างเช่น การแชตผ่านสมาร์ทโฟน อาทิ แบล็กเบอร์รี (บีบี) ไอโฟน ในการหาคู่รักและคู่นอน พร้อมทั้งสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตนเอง โดยในกลุ่มนี้โลกออนไลน์และออฟไลน์เชื่อมโยงกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ
รศ.ดร.พิมพวัลย์ กล่าวอีกว่า 6.ในกลุ่มหญิงรักหญิงและเอ็มเอสเอ็น พบการใช้สื่อเหล่านี้ในลักษณะของการเสพติด คือ ใช้ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน จะต้องถือบีบี หรือไอโฟนอยู่ในมือตลอดเวลา 7.ในทุกกลุ่มพบว่าเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมเป็นรูปแบบสื่อสารที่สำคัญ
รศ.ดร.พิมพวัลย์กล่าวว่า 8.กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ ใช้ สมาร์ทโฟนสำหรับติดต่อเพื่อนๆ ที่เป็นกลุ่มเดียวกันเป็นหลัก ไม่ใช่ในการติดต่อคู่นอน ในส่วนที่พบว่ากลุ่มเอ็มเอสเอ็น ใช้บีบีหรือไอโฟนในการหาคู่รักหรือคู่นอน ได้ผลการศึกษานี้จากการที่ติดตามเข้าไปตรวจสอบข้อความในบีบีของผู้ที่เข้าร่วมวิจัยเป็นเวลา 10 วัน จึงทำให้ทราบว่ากลุ่มนี้จะใช้แอปพลิเคชันบนบีบี ที่ชื่อว่า ไกเดอร์ ในการหาคู่นอนหรือคู่รัก ซึ่งแอปพลิเคชันนี้จะขึ้นรูปและข้อมูลของบุคคลว่าอยู่ห่างจากตัวเราระยะทางกี่กิโลเมตร จากนั้นจะมีการพูดคุยระหว่างกัน ไปหากันและเริ่มต้นความสัมพันธ์
“การสื่อเช่นนี้เป็นช่องทางหาคู่นอนแบบฉาบฉวย ง่าย แต่ถ้าไม่มีการป้องกันที่ดี เช่น ไม่สวมถุงยางอนามัย ก็เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี เพราะการคิดว่าคู่ในสื่อออนไลน์เป็นเรื่องที่ไม่จีรัง จึงมีการเปลี่ยนคู่ไปเรื่อยๆ โอกาสพลาดจะมีเยอะ ดังนั้นอยากให้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอินเทอร์เน็ตและมือถือในเชิงบวกจะดีกว่า” รศ.ดร.พิมพวัลย์กล่าว