เอเอฟพี - ซีเรียจัดให้มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ วันนี้ (26) ซึ่งในทางทฤษฎีจะยกเลิกระบบการปกครองโดยรัฐบาลพรรคเดียว อันเป็นสาเหตุของการประท้วงที่ทำให้ประเทศต้องตกอยู่ในสภาพคล้ายสงครามกลางเมืองมานานร่วม 1 ปี
ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด เสนอแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณปฏิรูปครั้งล่าสุด หลังจากประชาชนลุกฮือขับไล่รัฐบาลตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ไปมากกว่า 7,600 คน ผู้สังเกตการณ์เผย
อย่างไรก็ดี การทำประชามติครั้งนี้ไม่อาจบรรเทาแรงกดดันจากนานาชาติที่มีต่อ อัสซาด ได้ โดยเฉพาะสหรัฐฯซึ่งปรามาสแผนการของผู้นำซีเรียว่า “น่าขำ” ขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย
หน่วยเลือกตั้ง 13,835 แห่งทั่วประเทศ จะเปิดให้ชาวซีเรียผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ลงคะแนนเสียงเป็นเวลา 12 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลา 07.00 น.(12.00 น.ตามเวลาในไทย) เป็นต้นไป
ในขณะที่การกวาดล้างผู้ประท้วงยังดำเนินต่อไปในหลายพื้นที่ ส่วนผู้แปรพักตร์จากกองทัพซีเรียก็รณรงค์ต่อต้านทหารของอัสซาด การหยั่งเสียงประชาชนในวันนี้ (26) จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า จะน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งร่างโดยคณะกรรมาธิการ 29 คนที่ อัสซาด แต่งตั้ง จะไม่บรรจุมาตราที่ 8 ซึ่งกำหนดให้พรรคบาธเป็น “ผู้นำของรัฐและสังคม” ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการยกเลิกอำนาจผูกขาดของสมาชิกพรรคบาธที่มีมานับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติปี 1963 ซึ่งส่งผลให้บิดาของ อัสซาด ได้ขึ้นมาครองอำนาจในซีเรีย
อย่างไรก็ตาม ระบบการเมืองใหม่ที่มีพื้นฐานแบบ “พหุนิยม” ยังคงห้ามกลุ่มศาสนาก่อตั้งพรรคการเมือง
หนังสือพิมพ์ อัล-บาธ ซึ่งออกโดยพรรครัฐบาลซีเรีย เผยในบทบรรณาธิการสัปดาห์นี้ ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เป็นความสูญเสียสำหรับพรรคบาธ และขณะเดียวกันก็ยังสอดคล้องกับการปฏิรูปสังคมและการเมืองด้วย”
แม้จะยกเลิกข้อความต่างๆ ที่สื่อถึงซีเรียในฐานะรัฐสังคมนิยม ทว่ารัฐธรรมนูญใหม่ยังคงมาตราที่ 60 ซึ่งระบุให้ผู้แทนราษฎรครึ่งหนึ่งของสภาจะต้องมาจาก “ผู้ใช้แรงงานและเกษตรกร”
องค์กรทางโลกและผู้นับถือศาสนาส่วนน้อยยังกังวลเกี่ยวกับมาตราที่ 3 ซึ่งระบุให้ประธานาธิบดีต้องเป็นมุสลิม และ “หลักนิติศาสตร์อิสลามเป็นแหล่งที่มาของกฎหมายบ้านเมือง”
พลเมืองซีเรีย 22 ล้านคน ประกอบด้วย มุสลิมนิกายซุนนีร้อยละ 75, มุสลิมชีอะห์อลาวียะห์ซึ่งเป็นนิกายของ อัสซาด ร้อยละ 12 ส่วนที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์
มาตราที่ 88 กำหนดให้ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งคราวละ 7 ปีได้ไม่เกิน 2 สมัย ทว่าในมาตราที่ 155 กลับกำหนดให้เงื่อนไขเหล่านี้มีผลบังคับหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2014
นั่นหมายความว่า ในทางทฤษฎีแล้ว อัสซาด อาจจะมีสิทธิ์อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีซีเรียต่อไปได้อีกถึง 16 ปี
โทมัส เพียร์เร็ต ผู้สันทัดกรณีซีเรีย ให้ความเห็นว่า แม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ระบบการเมืองใหม่ก็ดูจะไปกันไม่ได้กับประเทศที่ “ถูกครอบงำด้วยหน่วยข่าวกรอง”
“ยังไม่มีอะไรบ่งชี้ว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปได้ ภายใต้รัฐบาลนี้” เพียร์เร็ต อาจารย์ด้านอิสลามและตะวันออกกลางศึกษา ประจำมหาวิทยาลับเอดินบะระ กล่าว