เอเอฟพี - ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย เรียกร้องให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้ระบอบการปกครองพรรคเดียวที่ดำเนินมานานถึง 50 ปีต้องสิ้นสุดลง วานนี้ (15) สื่อรัฐบาลซีเรียรายงาน
ประธานาธิบดี อัสซาด ออกมาปฏิเสธข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประณาม และเสนอให้ทำประชามติในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อบรรเทากระแสต่อต้านเหตุนองเลือดในซีเรีย
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เสนอมานั้นจะยกเลิกมาตราที่ 8 ซึ่งระบุให้พรรคบาธเป็น “ผู้นำของรัฐและสังคม” อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค สื่อซีเรียเผย
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ประธานาธิบดีต้องนับถือศาสนาอิสลาม และสามารถดำรงตำแหน่งคราวละ 7 ปี ได้ไม่เกิน 2 สมัย แต่ยังไม่แน่ว่ากฎระเบียบนี้จะบังคับใช้กับตัว อัสซาด เอง ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีซีเรียมา 2 สมัยแล้วหรือไม่
อัสซาด วัย 46 ปี ซึ่งสืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากอดีตประธานาธิบดี ฮาเฟซ อัล-อัสซาด ผู้พ่อเมื่อปี 2000 ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ “ยุคใหม่” ของซีเรีย สำนักข่าวซานา รายงาน
รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ท่าทีดังกล่าวเป็นเรื่อง “น่าขำ” ขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่แก่ดามัสกัส ออกมาชื่นชมการตัดสินใจของ อัสซาด
เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า “มันค่อนข้างน่าขำจริงๆ และเป็นการเย้ยหยันพลังปฏิวัติของชาวซีเรีย”
“คำสัญญาว่าจะปฏิรูปบ้านเมืองมักติดตามมาด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน และไม่เคยเกิดขึ้นจริงในรัฐบาลนี้ นับตั้งแต่เกิดการประท้วงอย่างสันติขึ้นในซีเรีย” คาร์นีย์ ระบุ
ด้าน เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย แถลงไปในทางชื่นชมว่า “เราเชื่อเหลือเกินว่า รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งจะยุติการปกครองด้วยพรรคเดียว จะเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญ นี่เป็นแนวคิดที่ดี และเราหวังว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้”
ทั้งนี้ คาดว่า สภาแห่งชาติซีเรีย ซึ่งเป็นองค์กรของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล จะปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากจุดประสงค์หลักของการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ก็คือ “โค่นล้มระบอบอัสซาดด้วยวิธีทางกฎหมายทุกประการ”
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญใหม่ยังปิดกั้นบทบาทของฝ่ายต่อต้านแทบทุกกลุ่ม ด้วยการแบนกลุ่มศาสนาและบุคคล 2 สัญชาติ ส่งผลให้แกนนำสภาแห่งชาติซีเรียรวมถึงกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งเป็นแนวร่วม หมดสิทธิ์ร่วมจัดตั้งรัฐบาล
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การทำประชามติครั้งนี้ถือว่าช้าเกินไป และไม่อาจสกัดกั้นประชาชนที่โหยหาการปฏิรูป โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการโค่นล้มรัฐบาลในอียิปต์, ตูนิเซีย และ ลิเบีย เมื่อปีที่ผ่านมาได้
องค์การนิรโทษกรรมสากล เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา มีผู้ถูกสังหารในซีเรียแล้ว 607 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็ก 45 ราย ขณะที่กองกำลังความมั่นคงซีเรียยังคงยิงถล่มศูนย์กลางการประท้วงที่เมืองฮอมส์อย่างต่อเนื่อง ทว่า ทหารซีเรียก็เริ่มผ่อนคลายปฏิบัติการโจมตีทางอากาศลง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประกาศเขตห้ามบิน