ฟาร์ส - ผู้นำมุสลิมชีอะห์ในประเทศไทยเปิดเผยว่า ผู้ต้องสงสัย 4 ราย ที่ก่อเหตุระเบิดบริเวณถนนสุขุมวิท 71 ล้วนเป็นสมาชิกของขบวนการประชาชนมุญาฮิดีนอิหร่าน (เอ็มเคโอ หรือชื่ออื่นๆ คือ เอ็มอีเค เอ็นซีอาร์ และพีเอ็มโอไอ) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต่อต้านรัฐบาลเตหะราน สำนักข่าวฟาร์สรายงานวานนี้ (20)
สำนักข่าวฟาร์สของอิหร่านรายงานว่า ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ประธานสถาบันศึกษาอัล-มะห์ดีย์ ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ผู้ต้องสงสัยร่วมกันก่อเหตุระเบิดเมื่อวันอังคารที่แล้ว (14) ทั้ง 4 ราย เป็นสมาชิกขบวนการประชาชนมุญาฮิดีนอิหร่าน
ฮูซัยนีระบุว่า กลุ่มเอ็มเคโอไม่เป็นที่รู้จักสำหรับหน่วยงานความมั่นคงไทย แต่ “เอ็มเคโออยู่ในรายชื่อกลุ่มก่อการร้ายของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1997 และมีประวัติเคยก่อเหตุหวังโค่นล้มการสถาปนารัฐอิสลามอิหร่าน ดูเหมือนกลุ่มนี้พยายามก่อเหตุเพื่อโยนความผิดให้อิหร่าน”
นักวิชาการอิสลามนิกายชีอะห์รายนี้ยังอ้างถึงรายงานลับของหน่วยความมั่นคงอิหร่านซึ่งระบุตรงกันว่า บุคคลเหล่านี้เป็นสมาชิกกลุ่มเอ็มเคโอ
ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี กล่าวย้อนถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันดีระหว่างอิหร่าน-ไทย และย้ำว่าเตหะรานจะไม่ดำเนินการลักษณะดังกล่าว เพื่อทำลายมิตรภาพระหว่างสองประเทศ
ทั้งนี้ เหตุระเบิดบริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ 31 เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากการลอบวางระเบิดในอินเดียและจอร์เจีย โดยมีเป้าหมายเป็นนักการทูตอิสราเอล ทางการอิหร่านได้ออกมาประณามผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดในไทย และกล่าวหาสายลับอิสราเอลว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งปฏิเสธข้อกล่าวหาจากรัฐยิวที่ว่า เตหะรานคือตัวการ
รอมิน เมห์มันปารัสต์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน แถลงถึงพฤติกรรมของอิสราเอลว่า สายลับยิวมักก่อเหตุก่อการร้ายลักษณะนี้บ่อยครั้ง
ขณะเดียวกัน มาจิด บิซมาร์ก เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย ก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “หากเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและชาญฉลาด เราจะรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง” ผู้ต้องสงสัยรายสำคัญ คือ ไซออนนิสต์ (อิสราเอล)
เตหะรานยังปฏิเสธคำกล่าวหาว่าผู้ต้องสงสัยถือสัญชาติอิหร่าน โดยระบุว่าบัตรประจำตัวที่พบในจุดเกิดเหตุอาจถูกสายลับอิสราเอลจัดฉากขึ้นมา
มาจิด บิซมาร์ก กล่าวว่า สถานเอกอัครราชทูตอิหร่านมีความเคลือบแคลงใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับสัญชาติที่แท้จริงของคนร้ายที่ถูกจับในไทยและมาเลเซีย หลังพบว่าคนกลุ่มนี้พกหนังสือเดินทางของอิหร่าน และตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า พวกเขาเป็นพลเรือนอิหร่านจริงหรือไม่
อนึ่ง กลุ่มเอ็มเคโอมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ในอิรัก และถูกหลายๆ ประเทศขึ้นบัญชีดำเป็นกลุ่มก่อการร้าย
เอ็มเคโอเริ่มปฏิบัติการลอบสังหารพลเรือนและเจ้าหน้าที่อิหร่าน ไม่นานหลังจากการปฏิวัติอิสลามประสบผลสำเร็จ โดยมีผู้นำอิหร่านหลายรายถูกเอ็มเคโอลอบสังหารไปแล้ว เช่น ประธานาธิบดี โมฮัมหมัด อาลี ราจายี, นายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด จาวัด บาโฮนาร์ และอธิบดีผู้พิพากษา โมฮัมหมัด ฮัสเซน เบเฮชติ ซึ่งต่างเสียชีวิตในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเมื่อปี 1981
ขบวนการประชาชนมุญาฮิดีนอิหร่านลี้ภัยไปยังอิรักในปี 1986 ที่นั่น กลุ่มนี้ได้รับการปกป้องจากประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งต้องการให้เอ็มเคโอช่วยจัดการกับชาวเคิร์ดและชาวชีอะห์ในอิรัก เอ็มเคโอยังได้เข้าร่วมกองทัพอิรักในช่วงทำสงครามกับอิหร่าน ระหว่างปี 1980-1988 ซึ่งอิรักยังคงได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ