เอเอฟพี - เครื่องบินสอดแนม ยู-2 ยุคสงครามเย็นจะถูกใช้งานในกองทัพอากาศสหรัฐฯต่อไปจนถึงปี 2025 หลังพบว่าเครื่องบินสอดแนมไร้คนขับที่จะนำมาทดแทนฝูงบิน ยู-2 มีประสิทธิภาพด้อยกว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯแถลง วานนี้(13)
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายประหยัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯจึงสรุปว่า เครื่องบินสอดแนม ยู-2 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 มีประสิทธิภาพสูงกว่าโดรนไร้คนขับ โกลบอล ฮอว์ก ซึ่งกองทัพวางแผนจะนำมาทดแทนฝูงบิน ยู-2 ในปี 2015
พล.อ.ลาร์รี สเป็นเซอร์ จากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ระบุว่า เครื่องบินทั้ง 2 รุ่นมีเพดานบินสูง ใช้ปฏิบัติภารกิจสอดแนมในอัฟกานิสถาน หรือดินแดนอื่นๆ ทั้งยังสามารถเก็บภาพและดักฟังสัญญาณสื่อสารได้อีกด้วย ทว่าระบบเซ็นเซอร์ใน ยู-2 สามารถเก็บภาพที่มีความละเอียดสูงกว่า โกลบอล ฮอว์ก
“หากจะพัฒนา โกลบอล ฮอว์ก ให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่า ยู-2 ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณ” สเป็นเซอร์ กล่าว
ในร่างงบประมาณปี 2013 เพนตากอน ได้ยกเลิกการสั่งซื้อ โกลบอล ฮอว์ก รุ่น “บล็อก 30” จำนวน 18 ลำ และเสนอให้ “ยืดอายุการใช้งาน ยู-2 ต่อไป จนถึงปีงบประมาณ 2025”
“ในเบื้องต้น เรามองว่า โกลบอล ฮอว์ก บล็อก 30 มีศักยภาพหลายด้าน เราต้องการนำมาทดแทนฝูงบิน ยู-2 และคิดว่าจะสามารถทำได้โดยใช้งบประมาณน้อยกว่านี้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ และมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป” สเป็นเซอร์ ระบุ
อย่างไรก็ดี ผู้ที่นิยม โกลบอล ฮอว์ก โต้แย้งว่า เครื่องบินไร้คนขับชนิดนี้สามารถปฏิบัติภารกิจได้ยาวนานกว่า ในขณะที่ ยู-2 ซึ่งต้องใช้นักบินควบคุม จะไม่สามารถบินได้นานเกิน 12 ชั่วโมง
ยู-2 ซึ่งผลิตโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน และมีรูปทรงที่ปราดเปรียว ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจจับขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต และตกเป็นประเด็นพิพาทระหว่างประเทศในปี 1960 เมื่อนักบินชาวอเมริกัน ฟรานซิส แกรี เพาเวอร์ส ถูกยิงตกขณะที่ขับเครื่องบิน ยู-2 เหนือน่านฟ้าโซเวียต
ในปี 1962 เครื่องบินชนิดนี้ได้จับภาพคลังอาวุธของโซเวียต จนนำมาซึ่งวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในคิวบา
ยู-2 ยังคงเป็นเครื่องบินสอดแนมที่สำคัญในกองทัพอากาศสหรัฐฯต่อมาอีกหลายทศวรรษ และเคยร่วมปฏิบัติการในสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน โดยผู้บัญชาการทหารจะใช้ภาพถ่ายและเสียงที่ดักฟังได้จาก ยู-2 เพื่อติดตามกลุ่มก่อการร้าย รวมถึงระเบิดที่วางไว้ตามจุดต่างๆ