เอเจนซีส์ - สหประชาชาติยืนยันในวันจันทร์ (9) ว่า อิหร่านเริ่มเดินหน้าโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมภายในโรงงานแห่งใหม่ซึ่งสร้างอยู่ใต้ดิน โดยในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลอิหร่านก็ได้ตัดสินประหารชีวิต “สปายอเมริกัน” ความเคลื่อนไหวเหล่านี้แน่นอนว่าจะยิ่งทำให้ตะวันตกบันดาลโทสะ ตลอดจนดับความหวังที่ว่าแนวทางแก้ปัญหาด้วยการทูตอาจช่วยหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการแซงก์ชัน หรือสงครามได้
ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) อันเป็นองค์กรชำนัญพิเศษของยูเอ็น ยืนยันว่า อิหร่านเริ่มการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมจนมีความบริสุทธิ์ 20% ที่โรงงานใต้ดิน “ฟอร์โด” ซึ่งตั้งอยู่ในบังเกอร์ที่ขุดลงไปในภูเขายากต่อการทำลายด้วยระเบิด ใกล้ๆ กับเมืองกุมซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางศาสนาที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเตหะราน
การตัดสินใจของอิหร่านที่จะเดินหน้ากิจกรรมนิวเคลียร์อันเป็นประเด็นอ่อนไหวภายในโรงงานใต้ดิน เพื่อป้องกันการโจมตี อาจขัดขวางความพยายามทางการทูตในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมานานอย่างสงบ
วิกตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การเสริมสมรรถนะยูเรเนียมดังกล่าวถือเป็นการยกระดับการละเมิดข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้อิหร่านระงับกิจกรรมดังกล่าว โดยร่วมมือกับไอเออีเอ และปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและมติของไอเออีเอทันที
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กระบวนการเพื่อทำให้ได้ยูเรเนียมบริสุทธิ์ 20% เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมจนมีความบริสุทธิ์ 90% ขึ้นไปซึ่งจำเป็นต่อการผลิตอาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม อิหร่านยืนกรานว่า กิจกรรมนิวเคลียร์ของตนมีวัตถุประสงค์ด้านสันติเพื่อวิจัยวิธีรักษามะเร็งด้วยไอโซโทป แต่ตะวันตกไม่เชื่อเช่นนั้น โดบเมื่อวันอังคาร (10) อาลี อัสการ์ โซลตาเนียห์ ผู้แทนของอิหร่านประจำไอเออีเอ ได้ตอบโต้เสียงโจมตีของฝ่ายตะวันตกว่า “มีแรงจูงใจทางการเมือง” อยู่เบื้องหลัง
ทั้ง โซลตาเนียห์ ตลอดจน กิลล์ ทิวดอร์ โฆษกของไอเออีเอที่แถลงในวันจันทร์ ต่างเน้นย้ำว่า วัสดุนิวเคลียร์ทั้งหมดในโรงงานฟอร์โด ยังคงถูกกล้องของไอเออีเอจับตาดูอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง
กระนั้นก็ยังดูไม่สามารถทำให้สหรัฐฯ หรือพันธมิตรสำคัญของวอชิงตันอย่างอิสราเอล รู้สึกไว้วางใจ โดยสิ่งที่พวกเขาบอกว่าน่าหวั่นเกรงก็คือ หากอิหร่านตัดสินใจขับคณะตรวจสอบของไอเออีเอออกจากประเทศ และเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมต่อเพื่อผลิตวัสดุฟิสไซล์ที่สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันภายในระยะเวลาอันสั้น
ด้านฝรั่งเศสกล่าวว่า การกระทำของอิหร่านทำให้ปารีสไม่มีทางเลื่อกอื่นใด นอกจากการบังคับใช้การคว่ำบาตรจากนานาชาติต่อไป และอาจมีมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมที่มีขอบเขตและความรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากนี้ อังกฤษและเยอรมนีก็ออกมาประณามเตหะรานเช่นกัน
เจ้าหน้าที่อียูผู้หนึ่งบอกกับเอเอฟพีว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป เพื่อตัดสินใจเรื่องการคว่ำบาตรงดนำเข้าน้ำมันอิหร่านจะเลื่อนจากปลายเดือนนี้มาเป็นวันที่ 23 นี้
ขณะเดียวกัน ในสายตานักวิเคราะห์มองว่าอิหร่านอาจใช้ความเคลื่อนไหวล่าสุดเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับตะวันตก หลังจากเพิ่งตัดสินประหารชีวิตอามีร์ เมอร์ซา เฮกมาติ ชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน ในข้อกล่าวหาเป็นสปายอเมริกันเข้ามาล้วงข้อมูลลับไปเมื่อวันจันทร์ (9)
ทั้งสองเหตุการณ์นี้มีขึ้นขณะที่มาตรการลงโทษใหม่ของสหรัฐฯ ต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน กำลังสร้างบาดแผลสาหัสทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น พวกผู้ซื้อน้ำมันเริ่มต่อรองขอส่วนลดมากขึ้นจากเตหะราน ค่าเงินเรียลอิหร่านดิ่งเหว และคนอิหร่านแห่ถอนเงินจากแบงก์เพื่อซื้อดอลลาร์ตุน
นอกจากนั้น สหรัฐฯ และอิสราเอลยังเปิดทางเลือกไว้สำหรับการใช้ปฏิบัตการทางทหาร กรณีที่จำเป็นเพื่อยับยั้งไม่ให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์
กระนั้น เตหะรานยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แต่ตอบโต้ด้วยการขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญของโลก
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ อายาตอลลาฮ์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ประกาศออกทีวีว่า มาตรการลงโทษของศัตรูจะไม่มีผลต่ออิหร่าน และชาวอิหร่านจะเชื่อมั่นในผู้ปกครอง