เอเอฟพี - รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศห้ามทำเหมืองใหม่รอบพื้นที่แกรนด์แคนยอนเป็นเวลา 20 ปี เพื่อป้องกันสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกแห่งนี้จากผลกระทบของการขุดแร่ยูเนียมไปอีกอย่างน้อย 1 ชั่วคน
เคน ซาลาซาร์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ แถลงว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วย “ปกป้องแกรนด์แคนยอนและบริเวณลุ่มน้ำโดยรอบจากผลกระทบด้านลบของการทำเหมืองยูเรเนียมและเหมืองหินอื่นๆ ภายในอาณาบริเวณกว่า 1 ล้านเอเคอร์”
การสั่งห้ามทำเหมือง “เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วสำหรับภูมิประเทศของอเมริกาแห่งนี้ ที่งดงามจนไม่อาจประเมินค่าได้” ซาลาซาร์กล่าว เพื่อหักล้างข้ออ้างของ ส.ส.รีพับลิกันจากรัฐแอริโซนา ที่ต้องการให้เปิดพื้นที่บริเวณนี้สำหรับทำโครงการเหมืองใหม่
“ประชาชนทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลกต่างเดินทางมาชมความงดงามของแกรนด์แคนยอน... ชาวอเมริกันพื้นเมืองหลายเผ่าก็ถือว่าที่นี่เป็นสัญลักษณ์และสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ พลเมืองหลายล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโคโลราโดก็ได้อาศัยแม่น้ำสายนี้ในการบริโภค, ชลประทาน, อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม”
“เราได้รับมอบหมายให้ดูแลและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งเราก็ได้เลือกความรับผิดชอบที่เหมาะสมสำหรับสิ่งนี้ ตลอดจนลูกหลานของเราในอนาคต”
เจน ดาโนวิตส์ จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพิว กล่าวว่า ประกาศของรัฐบาลย่อมหมายความว่า “ชาวอเมริกันจะสบายใจได้ว่าแกรนด์แคนยอนจะถูกปกปักรักษาไว้ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชม”
เมื่อปี 2009 ซาลาซาร์ประกาศให้งดการทำเหมืองใหม่รอบแกรนด์แคนยอนเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้กระทรวงมีเวลาศึกษาความเป็นไปได้ของการสั่งห้ามในระยะยาว และเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ก็ได้ขยายช่วงเวลางดทำเหมืองต่อมาอีก 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเหมืองยูเรเนียมเก่าที่ได้รับอนุญาตแล้ว ตลอดจนโครงการใหม่ที่อาจได้รับอนุมัติตามข้อเรียกร้อง และที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง
นอกจากนี้ การสำรวจแร่ด้วยวิธีการอื่นๆ และโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพ ก็ยังสามารถดำเนินการในพื้นที่ได้ กระทรวงเผย
ฮาล ควินน์ ประธานสมาคมเหมืองแห่งชาติสหรัฐฯ วิจารณ์คำสั่งดังกล่าวว่าไม่เหมาะสม โดยชี้ว่า “ผลการวิเคราะห์ที่กระทรวงจัดทำขึ้นไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่จะเวนคืนที่ดินจำนวนมากนอกเขตอุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน” ขณะที่ ส.ส.รีพับลิกัน จำนวนมากก็คัดค้านคำสั่งดังกล่าวเช่นกัน
วุฒิสมาชิก จอห์น แม็กเคน มีถ้อยแถลงว่า คำสั่งของกระทรวงมหาดไทย “จะขัดขวางการสร้างงานทางตอนเหนือของรัฐแอริโซนา” และขัดต่อนโยบายผ่อนปรนเขตป่าสงวนที่ประกาศใช้ในทศวรรษที่ 1980
แม็กแคนระบุว่า คำสั่งเช่นนี้ “เกิดจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งอ้างความหวงแหนที่ประชาชนมีต่อแกรนด์แคนยอนเพื่อขัดขวางการทำเหมืองรูปแบบใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย ทั้งยังอยู่ห่างจากแกรนด์แคนยอนหลายไมล์ จนไม่มีทางกระทบต่อคุณภาพน้ำดื่มจากแม่น้ำโคโลราโดได้เลย”