xs
xsm
sm
md
lg

EU ประกาศตัดความช่วยเหลือ 19 ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมถึง “ไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธงสหภาพยุโรป
เอเอฟพี - คณะกรรมาธิการยุโรปประกาศตัดความช่วยเหลือแก่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 19 ประเทศ รวมถึง จีน, อินเดีย, บราซิล และไทย ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป วานนี้(7) แอนดริส พีบาล์กส์ กรรมาธิการยุโรปฝ่ายการพัฒนา ระบุ

องค์กรบรรเทาทุกข์ต่างออกมาโต้แย้งการตัดสินใจดังกล่าว โดยระบุว่า ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศเหล่านี้อาจซ่อนเร้นความยากจนในหมู่ประชากรเอาไว้

19 ประเทศที่จะถูกตัดความช่วยเหลือ ได้แก่ อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, จีน, โคลอมเบีย, คอสตาริกา, เอกวาดอร์, คาซัคสถาน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, เม็กซิโก, ปานามา, เปรู, ไทย, เวเนซุเอลา และอุรุกวัย

พีบาล์กส์ กล่าวว่า การงดความช่วยเหลือจะนำไปสู่ “รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอียูและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เปลี่ยนไป และทำให้อียูสามารถมอบความช่วยเหลือไปยังกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุด” ระหว่างปี 2014 ถึง 2020

การตัดสินใจดังกล่าวอยู่ภายใต้บริบทของกระบวนการปรับงบรายจ่ายภายนอกของอียู เพื่อให้เข้ากับแผนงบประมาณระยะยาวที่ต้องปรับให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

สหภาพยุโรป 27 ประเทศนับเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด และเป็นแหล่งเงินบริจาคถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของโลก ด้วยมูลค่าความช่วยเหลือราว 53,800 ล้านยูโร(ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท) เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้รับผิดชอบ 20 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท

ภายใต้แผนงบประมาณปี 2014-2020 ทั้ง 19 ประเทศจะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินช่วยเหลือด้านการพัฒนาจำนวน 57,500 ล้านยูโร (2.37 ล้านล้านบาท)

ระหว่างปี 2007-2013 สหภาพยุโรปจัดสรรเงินช่วยเหลือสำหรับอินเดีย 470 ล้านยูโร, จีน 170 ล้านยูโร และบราซิล 61 ล้านยูโร

สหพันธ์องค์กรบรรเทาทุกข์แห่งยุโรปออกมาคัดค้านนโนบายตัดความช่วยเหลือ โดยระบุว่า อียูมองข้ามประชากรส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ซึ่งยังยากจนอยู่ แม้รายได้เฉลี่ยต่อหัวจะสูงขึ้นก็ตาม ทั้งยังกล่าวหาคณะกรรมาธิการยุโรปว่ากำลังเล่นการเมืองกับคู่แข่ง เช่น อินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับสหภาพยุโรป

“คณะกรรมาธิการยุโรปต้องรับรองว่า ความช่วยเหลือจะถูกส่งไปถึงประชากรที่ยากจนที่สุด และภาคส่วนซึ่งกำลังขาดแคลนมากที่สุดในโลก” ซาราห์ คริสติน โจฮันเซน จากสมาพันธ์คองคอร์ด (CONCORD) ซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงานบรรเทาทุกข์และเอ็นจีโอกว่า 1,600 แห่ง ระบุ
Weekend Focus: อิตาลี-กรีซ ผลัดใบผู้นำคนใหม่ หวังนายกฯ “เทคโนแครต” นำชาติพ้นวิกฤตหนี้สิน
Weekend Focus: อิตาลี-กรีซ ผลัดใบผู้นำคนใหม่ หวังนายกฯ “เทคโนแครต” นำชาติพ้นวิกฤตหนี้สิน
วิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ดูเหมือนไม่มีประเทศไหนในยุโรปหลีกเลี่ยงผลกระทบระลอกนี้ได้ กรณีดังกล่าวทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดที่กลายเป็นชนวนความไม่พอใจจากภาคประชาชน โดยในบรรดาผู้ใช้เงินสกุลยูโร 17 ประเทศ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส เป็น 3 ประเทศที่ยอมรับสภาพและขอรับความช่วยเหลือทางการเงินไปแล้ว ขณะที่ทุกสายตาจับจ้องสถานีต่อไปของวิกฤตยูโรโซน อิตาลี ชาติเศรษฐกิจอันดับ 8 ของโลก กำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเดินย้ำรอยทางของกรีซมากที่สุด โดยแนวทางที่ทั้งกรีซและอิตาลีเดินเคียงกันไป ณ เวลานี้ คือ การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หวังสร้างความเชื่อมั่น เพื่อหาทางปฏิรูปเศรษฐกิจผ่านมาตรการตัดลดงบประมาณต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น