เทเลกราฟ/เอเอฟพี - เอลซา ฟอร์เนโร รัฐมนตรีสวัสดิการสังคมอิตาลี หลั่งน้ำตากลางงานแถลงข่าว ขณะรัฐบาลกำลังประกาศเนื้อหาของมาตรการรัดเข็มขัดฉบับใหม่มูลค่า 20,000 ล้านยูโร เพื่อกอบกู้สถานการณ์วิกฤตหนี้สินที่กำลังเกาะกินประเทศ ตามเสียงเรียกร้องจากยูโรโซน
นายกรัฐมนตรี มาริโอ มอนติ แห่งอิตาลี ประกาศกฤษฎีกากู้เศรษฐกิจชาติ ด้วยแผนขึ้นภาษี ตัดลดงบประมาณ และปฏิรูประบบเงินบำนาญ ณ งานแถลงข่าว หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เข้ารับงานหินต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี
อิตาลีจะ “ควบคุมหนี้สินและการขาดดุลงบประมาณอย่างเคร่งครัด” ไม่ให้ประเทศตกเป็นที่เพ่งเล็งของยูโรป มาริโอ มอนติ แถลงก่อนเตือนว่า ประชาชนอิตาลีจะต้อง “เสียสละ” ยิ่งไปกว่านั้น นายกรัฐมนตรีมือใหม่รายนี้ ประกาศ “ไม่รับเงินเดือน” เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชนที่ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก
แพกเกจรัดเข็มขัดกำหนดเวลา 3 ปี ฉบับนี้มีเนื้อหาครอบคลุมการปฏิรูประบบเงินบำนาญ ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยจะเพิ่มอายุเกษียณของผู้หญิงขึ้นเป็นอายุ 62 ปี ในปีหน้า ก่อนปรับเพิ่มจาก 62 เป็น 66 ปี เท่ากับการอายุเกษียณของผู้ชายภายในปี 2018
เอลซา ฟอร์เนโร รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงสวัสดิการสังคมอิตาลี ถึงกับหลั่งน้ำตา ขณะกำลังอธิบายมาตรการรัดเข็มขัดของกระทรวงที่ถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงาน
“เราต้อง ... มันทำร้ายสุขภาพจิตเรา ... ขอให้ ...” รัฐมนตรีฟอร์เนโร กล่าวระหว่างการแถลง แต่ไม่สามารถพูดจบประโยค น้ำตาก็ไหลรินออกมาเสียก่อน ขณะรัฐบาลกำลังประกาศมาตรการที่ประชาชนจำนวนมากต้องเจ็บปวด
นายกรัฐมนตรี มอนติ ช่วยกล่าวปิดท้ายคำแถลงของ เอลซา ฟอร์เนโร ด้วยคำว่า “เสียสละ”
แพกเกจนี้ยังรวมถึงการขึ้นภาษีที่อยู่อาศัยและสินค้าฟุ่มเฟือย พร้อมทั้งมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 2 เปอร์เซ็นต์ เป็น 23 เปอร์เซ็นต์ ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2012 อนึ่ง คาดว่ากฤษฎีกาตัดลดรายจ่ายของภาครัฐฉบับนี้จะผ่านการมติขั้นสุดท้ายของรัฐสภาก่อนช่วงเทศกาลคริสต์มาส
มาริโอ มอนติ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีมาเพียง 3 สัปดาห์ กล่าวว่า “สถานการณ์ปัจจุบันบังคับให้เราต้องเลือก ระหว่างการเสียสละกับสถานะรัฐล้มละลาย สกุลเงินยูโรอาจแตกสลายจากความล้มเหลวของอิตาลี”
ทั้งนี้ รัฐบาลกรุงโรมถูกกดดันอย่างหนักจากยูโรโซนและนักลงทุนระหว่างประเทศให้ประกาศมาตรการรัดเข็มขัดฉบับเคร่งครัด ก่อนถึงการประชุมซัมมิตสหภาพยุโรปในวันพฤหัสบดี (8) - วันศุกร์ (9)
อิตาลีเคยประกาศมาตรการรัดเข็มขัดมาแล้ว 2 ฉบับ ในปีนี้ แต่คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่า อิตาลีจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณภายในปี 2013 หากยังไม่มีแพกเกจรัดเข็มขัดที่เข้มงวดเพิ่มเติม
.