xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯประกาศเบ่งกล้ามอวดศักดาในเอเชีย (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US muscle manifesto for Asia
By Brian McCartan
23/11/2011

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหรัฐฯปรากฏตัวอย่างคึกคักในเอเชีย ทั้งด้วยการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำและการตระเวนเยี่ยมเยียนอย่างเป็นทางการหลายรอบหลายครา วอชิงตันยังอาศัยทั้งกลไกทางการทูตเคียงคู่ไปกับการรุกทำแต้มทางการทหารอย่างต่อเนื่อง มาประกาศเน้นย้ำถึงคำมั่นสัญญาของตนที่จะกลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อีกคำรบหนึ่งในภูมิภาคแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอีกด้านหนึ่ง จีนกลับแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยท่าทีค่อนข้างสงบเสงี่ยม ซึ่งดูจะบ่งชี้ให้เห็นว่าอาจจะไม่ทันระวังตั้งตัว หรือไม่ก็เกิดความกังวลว่าถ้าแสดงอะไรออกไปมาก ก็อาจกลายเป็นการผลักดันพวกประเทศที่อ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้รายอื่นๆ ให้วิ่งเข้าสู่อ้อมกอดของสหรัฐฯ อย่างแนบแน่นขึ้นไปอีก

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ผลักดันยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกของตนให้คืบหน้าไปอย่างน่าตื่นใจ ทั้งด้วยการออกเดินสายตระเวนไปในภูมิภาคแถบนี้อย่างเอิกเกริกเกรียวกราวของประธานาธิบดีบารัค โอบามา และทั้งจากการที่สหรัฐฯเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของเอเชีย-แปซิฟิกหลายๆ รายการอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้มีการโน้มน้าวให้เห็นไปว่า การปรากฏตัวเหล่านี้คือความพยายามที่จะขยายการค้าและค้ำจุนเศรษฐกิจอเมริกันที่กำลังอยู่ในภาวะชะงักงัน แต่เจตนารมณ์ทางการทูตอันแท้จริง กลับมีการให้น้ำหนักอย่างสูงแก่ประเด็นทางด้านความมั่นคง สภาพการณ์ดังกล่าวนี้ยิ่งจริงจังหนักแน่นขึ้นไปใหญ่ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งยุทธศาสตร์แห่งการหวนกลับมามีปฏิสัมพันธ์ (reengagement strategy) ของอเมริกา ดูเหมือนจะถูกปรับเข้าสู่เกียร์สูงขึ้นอีก ทั้งนี้เพื่อการแข่งขันชิงชัยกับจีน

อันที่จริงแล้ว สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การให้น้ำหนักความสำคัญแก่เอเชียได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ แห่งการทำงานของคณะรัฐบาลโอบามาทีเดียว รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน เลือกเอเชียเป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทางเยือนต่างประเทศเที่ยวแรกของเธอ ซึ่งเป็นการพลิกผันประเพณีปฏิบัติในอดีตที่ผู้ทำหน้าที่ป็นนายใหญ่ด้านการทูตของอเมริกามักจะต้องไปยุโรปก่อน หลังจากนั้นมา สหรัฐฯยังเข้าร่วมเวทีการเจรจาระดับภูมิภาคอย่างไม่ขาดตอน ไม่ว่าจะเป็น การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF) , การประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจา (ASEAN Post-Ministerial Conference), หรือ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit หรือ EAS) ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นไปทีหลังเพื่อน นอกจากนั้น สหรัฐฯยังแต่งตั้งเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอาเซียน และในยุครัฐบาลโอบามานี้เองที่วอชิงตันลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia ) ของสมาคมอาเซียน อันเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญมากในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯยังได้เข้าร่วมในโครงการความริเริ่มทางด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้นอกเหนือจากการฝึกร่วมทางทหาร “คอบรา โกลด์” (Cobra Gold) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในประเทศไทยแล้ว อเมริกายังได้ยกระดับความร่วมมือและการเข้าร่วมในการฝึกด้านต่างๆ กับฝ่ายทหารของมาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, และอินโดนีเซีย สหรัฐฯซึ่งเคยประกาศคว่ำบาตรห้ามการติดต่อทางทหารกับกองทหารหน่วยรบพิเศษ โกปัสซุส (Kopassus) ของอินโดนีเซียมายาวนาน 1 ทศวรรษ ได้หวนกลับมาฟื้นฟูการติดต่อดังกล่าวอีกครั้งในปี 2010 สหรัฐฯยังเริ่มต้นทำการฝึกซ้อมทางทหารประเภทที่ไม่เกี่ยวกับกำลังสู้รบ กับเวียดนาม ระหว่างที่โอบามาเยือนออสเตรเลียเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศแผนการซึ่งจะทำให้ในท้ายที่สุดมีกำลังหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินสหรัฐฯจำนวน 2,500 คน เข้าไปประจำในเมืองดาร์วิน เมืองใหญ่ทางภาคเหนือของออสเตรเลีย

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการตอกย้ำนโยบายของโอบามาในการกลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเอเชียอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บทความชิ้นหนึ่งที่เขียนโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) เดือนพฤศจิกายน ระบุออกมาอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของอเมริกาที่จะสร้างพันธกิจทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และความมั่นคงกับภูมิภาคนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ในบทความดังกล่าว คลินตันใช้คำว่า “การทูตแบบเคลื่อนขบวนไปข้างหน้า” (forward-deployed diplomacy) มาเสนอนโยบายที่มุ่งดำเนินการอย่างกระตือรือร้น โดยมีองค์ประกอบทั้งในด้านการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มพันธมิตรความมั่นคงระดับทวิภาคี, การออกปรากฏตัวทางทหารในระดับกว้าง, การเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับพวกสถาบันระดับพหุภาคี, การเพิ่มการค้าและการค้าลงทุน, การกระชับความสัมพันธ์กับพวกมหาอำนาจเกิดใหม่ระดับภูมิภาค เป็นต้นว่า จีน, และการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

**ความมั่นคงคือเรื่องสำคัญลำดับแรก**

บทความดังกล่าวติดตามมาด้วยปฏิบัติการจริง โดยที่ทั้งโอบามาและคลินตันต่างออกตระเวนเยือนหลายๆ ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระหว่างที่มีงานใหญ่เกี่ยวกับเอเชียอยู่หลายงานตลอดช่วง 1 สัปดาห์เศษๆ ตั้งแต่การประชุมซัมมิตของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC) ที่มลรัฐฮาวาย, สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน ไปจนสิ้นสุดการประชุม EAS ที่เกาะบาหลี, อินโดนีเซีย ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ถึงแม้มีการประโคมข่าวว่าการประชุมระดับพหุภาคีและการเยี่ยมเยียมหารือระดับทวิภาคีเหล่านี้ วัตถุประสงค์ของอเมริกาคือเพื่อย้ำยืนยันความมุ่งมั่นในทางการทูตของตน และการหล่อหลอมเพิ่มพูนกลุ่มหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ในทางเป็นจริงแล้วสิ่งที่กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดกลับกลายเป็นประเด็นทางด้านความมั่นคง

ตัวโอบามาเองได้กล่าวสรุปเจตนารมณ์ของเขาเอาไว้ในระหว่างที่เขาเยือนออสเตรเลียเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน โดยบอกว่า “จากการการเยือนภูมิภาคนี้ของผมในครั้งนี้ ผมกำลังทำให้เป็นที่กระจ่างชัดแจ้งว่า สหรัฐฯกำลังเพิ่มพูนยกระดับพันธกิจที่มีต่อทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” เขาแถลงเช่นนี้ภายหลังที่ได้มีการประกาศว่ากองกำลังเฉพาะกิจนาวิกโยธินสหรัฐฯจะเข้าประจำการแบบหมุนเวียนไปตามฐานทัพต่างๆ ของออสเตรเลีย ขณะที่จำนวนทหารนาวิกโยธินที่มาประจำการในแดนจิงโจ้เช่นนี้จะมีทั้งสิ้น 2,500 คน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นจำนวนมากมายอะไร ทว่ามันก็มีความสำคัญในฐานะที่เป็นหลักหมายแห่งการที่อเมริกาขยายกำลังทหารเข้าประจำการระยะยาวในเอเชียเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเวียดนามเป็นต้นมา

การส่งทหารอเมริกันเข้ามาในคราวนี้มีความหมายอันชัดเจนยิ่งสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การปรากฏตัวของนาวิกโยธินเหล่านี้จะเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถส่งอำนาจอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินขั้นตอนการจัดตั้งฐานทัพขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง ซึ่งอาจจะถูกมองว่าเป็นการยั่วยุและไม่เป็นที่ชื่นชมยินดีเท่าใดนัก ทั้งนี้ อเมริกาได้ยกเลิกฐานทัพของตนที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยไปเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1970 และถอนออกมาจากฟิลิปปินส์ในตอนต้นทศวรรษ 1990 ถึงแม้ในเวลานี้สหรัฐฯยังสามารถที่จะใช้ท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกทางนาวีในสิงคโปร์อยู่ก็ตามที

จากฐานทัพในภาคเหนือของออสเตรเลีย ทหารอเมริกันจะสามารถเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างง่ายดาย เพื่อเข้าร่วมในการฝึกซ้อมทางทหาร, การช่วยเหลือปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม, ตลอดจนทำให้ได้ที่ทางแสดงตัวซึ่งจะมีส่วนช่วยการประคับประคองโครงสร้างทางด้านความมั่นคงของภูมิภาคแถบนี้เอาไว้ นอกจากนั้นยังทำให้สหรัฐฯมีกำลังทหารที่จะเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนใต้ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งถือเป็นการจัดหามาตรการเชิงป้อมปราม ตลอดจนความสนับสนุนในทางจิตใจ ให้แก่พวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในบริเวณนี้ นอกเหนือจากกำลังนาวิกโยธินในออสตรเลียแล้ว สหรัฐฯยังมีแผนการที่จะส่งกองเรือรบชายฝั่งกองใหม่เข้าไปประจำการในสิงคโปร์อีกด้วย

ในบทความที่ตีพิมพ์ใน “ฟอเรนจ์ โพลิซี” ของเธอ คลินตันได้เขียนถึงเรื่องการฟื้นฟูตลอดจนการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯกับประเทศไทย และกับฟิลิปปินส์ ในระหว่างที่เธอเดินสายไปในภูมิภาคนี้เมื่อเร็วๆ นี้เธอก็ได้ไปเยือน 2 ประเทศนี้ด้วย คลินตันยังกระทำสิ่งที่เป็นการเพิ่มน้ำหนักในเชิงสัญลักษณ์ให้แก่ข้อเขียนของเธอ ซึ่งพูดถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะส่งเรือรบไปเยือนฟิลิปปินส์ให้ถี่ขึ้นรวมทั้งที่จะฝึกอบรมกองกำลังต่อต้านการก่อการร้ายของฟิลิปปินส์ให้มากขึ้น เมื่อเธอกล่าวแถลงย้ำยืนยันความสัมพันธ์ทางทหารอันแข็งแกร่งระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์ จากดาดฟ้าของเรือรบอเมริกันที่กำลังไปเยือนอ่าวมะนิลา

แน่นอนทีเดียวว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นนี้ไม่ได้รอดพ้นสายตาของชาวฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งกำลังพิพาทอยู่กับจีนในการช่วงชิงพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตทะเลจีนใต้ที่มะนิลาเห็นว่าอยู่ภายใต้อธิปไตยของตน ระหว่างการกล่าวปราศรัยบนเรือรบอเมริกันดังกล่าว คลินตันยังได้เอ่ยถึงทะเลจีนใต้ (South China Sea) โดยหันไปใช้คำเรียกขานอันเป็นที่นิยมของฝ่ายมะนิลา นั่นคือ ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (West Philippines Sea) ขณะเดียวกัน การร่วมซ้อมเคลื่อนกำลังทหารระหว่างสหรัฐฯกับฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้ปรับเปลี่ยนจากที่กำหนดเอาไว้ตอนแรกๆ ที่ป็นโครงการเคลื่อนกำลังทางภาคพื้นดินเป็นหลัก กลายมาเป็นการซ้อมรบซึ่งเน้นหนักที่การสู้รบทางนาวีและการสู้รบแบบสะเทินน้ำสะเทินบกมากขึ้น

ในความพยายามที่จะทำให้ข้อเสนอของเธอ เกี่ยวกับการขยายการปรากฏตัวทางทหารของอเมริกันในภูมิภาคนี้ มีภาพของความแข็งกร้าวลดน้อยลง คลินตันเสนอแนะเอาไว้ในบทความของเธอว่า กำลังทหารสหรัฐฯเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ “ที่สำคัญยิ่งยวด” หลายๆ ประการ เป็นต้นว่า ทำให้สหรัฐฯมีสถานะที่ดียิ่งขึ้นในการสนับสนุนการปฏิบัติงานเพื่อมนุษยธรรม ตลอดจนเป็นการจัดสร้าง “ป้อมปราการอันแข็งแกร่งซึ่งมุ่งต่อต้านภัยคุกคามหรือความพยายามทั้งหลายที่จะบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค”

แน่นอนว่า กำลังทหารของอเมริกาสามารถแสดงบทบาทให้ความช่วยเหลือ ในกรณีฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เหมือนกับที่ได้เคยกระทำมาระหว่างภัยพิบัติคลื่นสึนามิถล่มหลายประเทศชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียในปี 2004 รวมทั้งมีความพรักพร้อมที่จะปฏิบติการในเหตุการณ์พายุไซโคลน “นาร์กิส” (Nargis) ถล่มพม่าในปี 2008 นอกจากนั้น การที่กองทหารอเมริกันเข้าร่วมฝึกซ้อมกับกองทัพของชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็เป็นสิ่งที่ดำเนินการกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว กระนั้นก็ตามที ยังมีการคาดเดากันอย่างสะพัดหนาหูว่า คำมั่นสัญญาทางด้านความมั่นคง ตลอดจนการเพิ่มพูนยกระดับพันธกิจทางการทหาร ที่สหรัฐฯประกาศออกมาในระยะหลังๆ นี้ แท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ใหญ่ที่พุ่งเป้าไปยังประเทศจีน โดยที่จุดเน้นหนักสำคัญที่สุดอยู่ที่ทะเลจีนใต้

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ bpmccartan1@gmail.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น