xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯประกาศเบ่งกล้ามอวดศักดาในเอเชีย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไบรอัน แมคคาร์แทน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US muscle manifesto for Asia
By Brian McCartan
23/11/2011

ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สหรัฐฯปรากฏตัวอย่างคึกคักในเอเชีย ทั้งด้วยการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำและการตระเวนเยี่ยมเยียนอย่างเป็นทางการหลายรอบหลายครา วอชิงตันยังอาศัยทั้งกลไกทางการทูตเคียงคู่ไปกับการรุกทำแต้มทางการทหารอย่างต่อเนื่อง มาประกาศเน้นย้ำถึงคำมั่นสัญญาของตนที่จะกลับเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อีกคำรบหนึ่งในภูมิภาคแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอีกด้านหนึ่ง จีนกลับแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยท่าทีค่อนข้างสงบเสงี่ยม ซึ่งดูจะบ่งชี้ให้เห็นว่าอาจจะไม่ทันระวังตั้งตัว หรือไม่ก็เกิดความกังวลว่าถ้าแสดงอะไรออกไปมาก ก็อาจกลายเป็นการผลักดันพวกประเทศที่อ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้รายอื่นๆ ให้วิ่งเข้าสู่อ้อมกอดของสหรัฐฯ อย่างแนบแน่นขึ้นไปอีก

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**น่านน้ำแห่งการพิพาท**

ในบทความที่เขียนลงในวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ของสหรัฐฯ ประกาศว่า เสรีภาพในการเดินเรือและความมั่นคงในทะเลจีนใต้ คือผลประโยชน์ “ที่สำคัญยิ่งยวด” ของสหรัฐฯ เธอบอกด้วยว่าการทูตของอเมริกันมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในการคอยประคับประคองความพยายามระดับพหุภาคีในหมู่ประเทศผู้อ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้อย่างทับซ้อนกันอยู่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากรณีพิพาทที่เกิดขึ้นจะได้ได้รับแก้ไขอย่างสันติและสอดคล้องกับหลักการต่างๆ อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วของกฎหมายระหว่างประเทศ ควรต้องตราไว้ด้วยว่าในเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังประกาศเรื่องทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯจำนวน 2,500 คน จะเข้าประจำการในออสเตรเลียอยู่นั้นเอง คลินตันซึ่งกำลังอยู่เยือนฟิลิปปินส์ ก็ได้ร่วมลงนามในคำประกาศฉบับหนึ่งกับรัฐมนตรีต่างประเทศแดนตากาล็อก มีเนื้อหาเรียกร้องให้จัดการเจรจาหารือระดับพหุภาคีเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ ของทะเลจีนใต้

ประเทศที่อ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ทางทะเลในบริเวณดังกล่าวรายอื่นๆ นอกเหนือจากจีน เวลานี้ต่างกำลังตั้งคำถามฉกรรจ์ๆ เพิ่มมากขึ้น เกี่ยวกับแรงจูงใจของแดนมังกรทั้งในทะเลจีนใต้และในอาณาบริเวณอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาการปฏิบัติการต่างๆ ของจีนในช่วงหลังๆ ในแถบน่านน้ำซึ่งน่าที่จะอุดมด้วยน้ำมันและก๊าซเหล่านี้ ว่าเป็นการกระทำที่ก้าวร้าวรุกราน มนตร์บทที่ปักกิ่งนิยมสาธยายซึ่งให้คำมั่นสัญญาที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคโดยที่จะไม่กระทำการก้าวร้าวรุกรานนั้น ปัจจุบันกลับถูกมองว่าขัดแย้งอย่างแรงกับการที่แดนมังกรดำเนินโครงการและการปฏิบัติการทางทหารอย่างขาดความโปร่งใส เป็นต้นว่า การที่ในช่วงหลังๆ มานี้ เรือรบจีนเข้าไปก่อกวนขัดขวางการปฏิบัติงานของเรือวิจัยจากประเทศอื่นๆ หลายต่อหลายครั้ง

อันที่จริงแล้ว การที่อเมริกาเพิ่มการปรากฏตัวทางทหารในภูมิภาคนี้ แต่กลับได้รับปฏิกิริยาต่อต้านอย่างค่อนข้างเบาบาง ก็เนื่องจากมันกลายเป็นการตอบโต้ที่ได้รับความสนับสนุนอย่างกลายๆ จากบรรดารัฐในภูมิภาคนั่นเอง ในเมื่อมันคือการตอบโต้ต่อสิ่งที่ถูกมองว่าเป็รท่าทีก้าวร้าวรุกรานของแดนมังกรในน่านน้ำบริเวณนี้ จีนนั้นยืนยันเรื่อยมาว่าต้องการที่จะเจรจาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทับซ้อนกันเช่นนี้ ในลักษณะทวิภาคีเท่านั้น และได้ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับการทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นปัญหาระดับนานาชาติ ด้วยการหยิบยกขึ้นถกแถลงกันในเวทีประชุมภูมิภาคเฉกเช่น ARF และ EAS

แม้กระทั่งพม่าก็ยังดูเหมือนตัดสินใจแล้วว่า น่าจะดีกว่าที่จะถ่วงดุลความสัมพันธ์ซึ่งตนมีอยู่กับจีน ด้วยความสัมพันธ์กับสหรัฐฯที่ทำท่ากระเตื้องดีขึ้นเรื่อยๆ กระแสต่อต้านไม่พอใจอิทธิพลทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในพม่า ได้กลายเป็นข่าวระดับพาดหัวตัวใหญ่ทีเดียวในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อมีการประกาศระงับโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานที่บริเวณภาคเหนือของแดนหม่อง โดยที่โครงการดังกล่าวได้รับการหนุนหลังอย่างเต็มที่จากแดนมังกร ทว่าถูกหลายๆ ฝ่ายในพม่าต่อต้านคัดค้าน

ในเวลาเดียวกัน การพบปะหารือระดับสูงหลายต่อหลายนัดระหว่างเจ้าหน้าที่พม่ากับนักการทูตอเมริกัน ตลอดจนการเดินทางเยือนพม่าของคลินตันในเดือนธันวาคมนี้ ก็ทำให้นักเฝ้าจับจ้องมองพม่าหลายต่อหลายคนเกิดความประทับใจขึ้นมาว่า เรากำลังจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับเนปิดอ ที่เป็นความสัมพันธ์แบบใหม่ซึ่งมีความเป็นมิตรกันมากยิ่งขึ้น

รัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ จำนวนมากนอกเหนือจากพม่า ก็มองเห็นคุณค่าของการที่สหรัฐฯสามารถแสดงบทบาทเป็นตัวถ่วงดุลจีน ถึงแม้ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็ไม่ต้องการที่จะต้องตกอยู่ในจุดยืนซึ่งถูกบังคับให้ต้องเลือกเอาระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน เมื่อมองจากแง่มุมนี้ การที่การเดินหน้าเข้ามาของอเมริกาดูมีความน่าสนใจ ส่วนหนึ่งมาจากการที่คณะรัฐบาลโอบามาให้ความสนับสนุนบทบาทของอาเซียนที่เข้าเป็นแกนกลางในการพัฒนาระบบความมั่นคงระดับภูมิภาคขึ้นมา พวกประเทศอาเซียนมีความคาดหวังว่า ด้วยน้ำหนักของวอชิงตัน จะช่วยกระตุ้นให้ปักกิ่งเล่นไปตามกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานซึ่งตนเองได้ช่วยพัฒนาขึ้นมาในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ และจะไม่ถูกครอบงำบงการจากจีนเพียงด้านเดียว

**ปฏิกิริยาแบบสงบเสงี่ยม**

ปฏิกิริยาของปักกิ่งต่อจุดยืนอันแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นของวอชิงตัน โดยทั่วไปแล้วอยู่ในลักษณะสงบเสงี่ยม ถึงแม้มีคำเตือนอันบึ้งตึงออกมาเป็นชุดจากจีน รวมทั้งผ่านทางสื่อมวลชนกระบอกเสียงทั้งหลาย เพื่อเป็นการตอบโต้คำแถลงของโอบามาและคลินตัน ทว่าเสียงตอบโต้เหล่านี้อยู่ในสภาพของการเล่นไปตามเกมเสียเป็นส่วนใหญ่

วอชิงตันถูกชี้นิ้วกล่าวหาว่ากำลังมุ่งเพิ่มความตึงเครียดทางทหารขึ้นในภูมิภาค จากการประกาศส่งทหารเข้าไปตั้งฐานในออสเตรเลีย สำนักข่าวซินหวาของทางการแดนมังกรกล่าวในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนว่า “อเมริการู้สึกว่าจีนกำลังเป็นภัยคุกคามเพิ่มขึ้นทุกทีต่อฐานะความเป็นเจ้าของตน ด้วยเหตุนี้เอง จุดมุ่งหมายแห่งการเคลื่อนสู่ทางตะวันออกในเชิงยุทธศาสตร์ของอเมริกา แท้ที่จริงแล้วคือการที่จะตรึงและควบคุมจีนเอาไว้ และคอยถ่วงรั้งการพัฒนาของจีน”

บทวิจารณ์เหล่านี้ตลอดจนคำเตือนจากบทบรรณาธิการอื่นๆ ในสื่อจีน ไม่ได้มีความเข้มข้นแข็งขันเหมือนอย่างที่ควรคาดหมายได้จากความเคลื่อนไหวอันแข็งกร้าวขนาดนั้นของวอชิงตันเข้าไปในอาณาบริเวณซึ่งจีนกำลังมีความสนใจอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริงแล้ว ปักกิ่งดูเหมือนจะไม่ทันระวังตั้งตัวเมื่อประสบกับขนาดขอบเขตและความแข็งกร้าวของแนวทางใหม่ของวอชิงตัน ถึงแม้เรื่องที่ในปัจจุบันจีนกำลังยุ่งวุ่นวายอยู่กับประเด็นการสืบทอดตำแหน่งของคณะผู้นำชุดใหม่ในปี 2012 นี้ ก็ดูจะมีส่วนอยู่มากที่ทำให้การตอบโต้เป็นไปอย่างค่อนข้างเงียบๆ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แดนมังกรปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการพิพาททางการทูตขนาดใหญ่ใดๆ จนกว่าประเด็นเหล่านี้จะได้รับการคลี่คลายผ่านพ้นไปแล้ว

พวกเจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ของจีน ยังดูเหมือนจะต้องระมัดระวังคาดคำนวณการตอบโต้ของพวกตนให้พอเหมาะพอสม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กลายเป็นการแสดงปฏิกิริยาอย่างเกินเลย ต่อข่าวสารซึ่งแท้ที่จริงโอบามามุ่งส่งไปถึงบรรดาท่านผู้ชมชาวอเมริกันภายในประเทศในช่วงเวลาก่อนหน้าจะถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปีหน้า ไม่ใช่มุ่งหมายตั้งเป้าเล็งไปที่ปักกิ่ง ทั้งนี้โอบามาได้ถูกพวกที่กำลังชิงชัยกันเพื่อให้ได้เป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน กล่าวหาโจมตีอย่างหนักว่ามีท่าทีอ่อนให้จีนมากเกินไป

ปักกิ่งยังอาจจะค่อนข้างสูญเสียความมั่นใจไปบ้างด้วย จากการที่ภายในภูมิภาคแสดงความสนับสนุนอย่างคึกคักทีเดียวต่อวอชิงตัน ตามการแถลงสรุปของเจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่ง มีผู้นำ 16 คนจากทั้งสิ้น 18 คนซึ่งเข้าร่วมการประชุมซัมมิต EAS พูดแสดงท่าทีคัดค้านอย่างแข็งแรงต่อการวางตัวของจีนในปัจจุบัน บทเรียนที่ปักกิ่งอาจจะได้ไปจากการประชุมหารือคราวนี้ก็คือ จุดยืนแบบแข็งกร้าวว่าด้วยทะเลจีนใต้ ดูมีแต่จะส่งผลทำให้ชาติอ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ หันไปพึ่งพาสหรัฐฯกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อันเป็นสภาพการณ์ซึ่งเห็นได้ชัดว่าปักกิ่งต้องการที่จะหลีกเลี่ยง

ทางด้านโอบามาได้แสดงท่าทีรับทราบความไม่สบายใจของจีนต่อความเคลื่อนไหวของอเมริกันซึ่งดูเหมือนสามารถที่จะตีความได้ว่าเป็นการสร้างวงปิดล้อม โดยเขาได้ให้สัญญาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนว่า ต้องการที่จะร่วมมือกับปักกิ่งให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ อีก 2 วันต่อมา เขาได้พูดคุยเจรจากับนายกรัฐมนตรี เวิน เจียเป่า ของจีน ในการพบปะหารือกันที่มิได้อยู่ในกำหนดการเดิม ภายหลังการประชุมซัมมิต EAS ที่เกาะบาหลีแล้ว ทั้งนี้คาดกันว่าน่าจะจัดขึ้นตามคำขอของฝ่ายจีน มีรายงานว่า เวิน ได้แสดงความไม่พอใจโอบามา ที่หยิบยกประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ขึ้นพูดในที่ประชุม EAS โดยกล่าวว่าประเด็นนี้ควรได้รับการแก้ไขกันโดยตรง “ด้วยวิธีการปรึกษาหารือและการเจรจากันฉันมิตร”

ยังจะต้องติดตามกันต่อไปว่า สหรัฐฯมีความสามารถหรือไม่ที่จะปฏิบัติให้ได้ตามคำพูดและแผนการต่างๆ ของตนเองในเรื่องการเพิ่มพันธกิจด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้ เมื่อพิจารณาจากสภาพของสหรัฐฯในช่วงหลังๆ นี้ ซึ่งทั้งเผชิญกับปัญหาของภาคการเงิน, เศรษฐกิจอยู่ในอาการทรุดตัว, และการตัดลดงบประมาณด้านกลาโหมที่ติดตามมา เหล่าผู้นำในภูมิภาคนี้ย่อมรู้สึกกังวลว่า วอชิงตันอาจจะหมดสมรรถภาพที่จะรักษาคำมั่นสัญญาของตน

บรรดาผู้นำอาเซียนยังมิได้หลงลืมความรู้สึกเจ็บปวด จากการที่สหรัฐฯในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ดูเหมือนละเลยไม่แยแสภูมิภาคนี้ โดยหันไปเน้นหนักสนใจแต่สงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน พวกเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับคำสัญญาซึ่งหนุนหลังด้วยการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า สหรัฐฯยังจะรักษาพันธกิจด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปเรื่อยๆ จริงๆ ถ้าหากวอชิงตันแสดงท่าทีรีรอหรือวอกแวกต่อคำมั่นสัญญาเหล่านี้แล้ว สหรัฐฯก็เสี่ยงที่จะสูญเสียความชอบธรรมที่จะดำรงคงอยู่ในภูมิภาคนี้ และเสี่ยงที่จะสูญเสียความเชื่อมั่นทางการทูตซึ่งคณะรัฐบาลโอบามาสามารถที่จะกอบกู้พลิกฟื้นคืนมาได้ จากการประกาศลั่นถึงนโยบายแห่งการหวนกลับมามีปฏิสัมพันธ์อีกคำรบหนึ่ง

ไบรอัน แมคคาร์แทน เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระ สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ bpmccartan1@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น