เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ - สหภาพแรงงานอังกฤษอ้าง มีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคน ร่วมผละงานประท้วงในวันพุธ (30 พ.ย.) เพื่อคัดค้านแผนปฏิรูประบบเบี้ยบำนาญตามมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลกรุงลอนดอน
การผละงานประท้วงวานนี้ส่งผลให้โรงเรียนหลายพันแห่งปิดการเรียนการสอน สำนักงานราชการส่วนท้องถิ่นจำนวนมากหยุดทำการ และโรงพยาบาลหลายแห่งมีเจ้าหน้าที่เหลืออยู่ไม่กี่คน ทั้งนี้ เป็นผลจากการผละงานประท้วงที่สหภาพแรงงานอังกฤษกล่าวอ้างว่า ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี
ทว่า รัฐบาลเมืองผู้ดีตั้งคำถามถึงจำนวนผู้ร่วมประท้วงที่แท้จริง ขณะนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน แสดงความเห็นต่อการชุมนุมครั้งนี้ว่า “น่าผิดหวัง”
อีกมุมหนึ่ง ตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนเปิดเผยว่า หน่วยกู้ภัยฉุกเฉินได้ขอกำลังเสริมจากตำรวจให้ช่วยรับมือการขอความช่วยเหลือทั่วกรุงลอนดอน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ไม่พอ ส่วนท่าอากาศยานฮีทโธรว์กลับไม่เกิดเหตุโกลาหลตามการประเมินสถานการณ์ก่อนหน้านี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองส่วนใหญ่ยังคงไปทำงานตามเดิม
ขณะเดียวกัน เรือและรถไฟข้ามช่องแคบอังกฤษก็ยังคงเปิดบริการเป็นปกติ
สำหรับสถานการณ์การผละงาน 24 ชั่วโมง ในกรุงลอนดอนและเมืองแมนเชสเตอร์มีแรงงานจำนวนมากเดินขบวนกลางเมือง ส่วนเบอร์มิงแฮม เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอังกฤษ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีการประท้วงของสหภาพแรงงานเช่นกัน
ตำรวจลอนดอนยืนยันว่า มีผู้ถูกจับกุม 75 คน ด้วยข้อหาหลากหลายแตกต่างกันไประหว่างการชุมนุม
ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูประบบเงินบำนาญเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ แรงงานอังกฤษจะเกษียณต่อเมื่ออายุ 66 ปี และมีการเพิ่มเบี้ยประกันสังคม ทว่า เมื่อถึงวัยเกษียณ ชาวอังกฤษจะได้รับเงินบำนาญน้อยลงกว่าเดิม โดยพิจารณาจากฐานเงินเดือนเฉลี่ยตลอดการทำงาน ต่างจากระบบเดิมที่คิดจากฐานเงินเดือนช่วงสุดท้ายก่อนเกษียณอายุ
หนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับวันนี้ (1 ธ.ค.) หลายๆ สำนักวิพากษ์วิจารณ์การผละงานประท้วงไปในแง่ลบ
“เดลีเทเลกราฟ” เรียกร้องให้แก้กฎหมาย “ป้องกันการผละงานประท้วงที่ไม่อาจสั่งห้ามได้เกิดขึ้นซ้ำซาก”
หนังสือพิมพ์ยอดนิยมอย่าง “เดลิเมล์” ก็ตำหนิบรรดาครูใหญ่ที่ทิ้งงานการศึกษาและสร้าง “ความโกลาหล ความผิดหวังแก่ครอบครัวเป็นล้านๆ” ส่วนหน้าหนึ่งของ “เดอะซัน” ก็พาดหัวว่า การผละงานประท้วงที่มีคนเพียง “หยิบมือ”
แม้กระทั่ง “ดิอินดีเพนเดนต์” สื่อที่หนุนการประท้วง ก็ส่งเสียงบ่นว่า การประท้วงครั้งนี้ “ไม่ถูกเวลา” แต่ก็สำทับทิ้งท้ายว่า ประชาชนมีสิทธิในการชุมนุม
ด้านนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน วิจารณ์การประท้วงกลางที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษว่า “น่าผิดหวัง” พร้อมทั้งโจมตีสหภาพแรงงานที่เลือกผละงานประท้วง ขณะกำลังเจรจาปฏิรูประบบเงินบำนาญ ยิ่งไปกว่านั้น คาเมรอนยังกล่าวหาเอ็ด มิลิแบนด์ หัวหน้าพรรคเลเบอร์ ปาร์ตี แกนนำฝ่ายค้าน เป็น “ปีกซ้ายที่อ่อนแอไร้ความรับผิดชอบ” เนื่องจากไม่ยอมออกมาวิพากษ์วิจารณ์การผละงานประท้วง
อนึ่ง ยูนิซัน สหภาพแรงงานที่มีสมาชิก 1.3 ล้านคน เปิดเผยหลังการชุมนุมว่า มีผู้คนร่วมผละงานราว 2 ล้านคน และมีพลังสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ขัดแย้งกับข้อมูลของสำนักคณะรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งแถลงโต้ว่า “จำนวนผู้ประท้วงน้อยกว่าที่สหภาพแรงงานกล่าวอ้างและคาดการณ์มาก”