เอเจนซีส์/บีบีซี นิวส์ - อังกฤษเตรียมรับมือการผละงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปีของกลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานข้าราชการ และพนักงานรัฐ ร่วม 30 แห่ง ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบบำนาญภาครัฐ ในวันพุธ (30) นี้ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากกว่า 2 ล้านคน
ข้าราชการ และพนักงานรัฐจากหลายภาคส่วน ที่รวมถึง ครู แพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ราว 2 ล้านคน ประกาศจะหยุดงานประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้พวกเขาต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับเงินบำนาญในอนาคต และทำงานนานขึ้นก่อนเกษียณอายุ
คาดกันว่า การผละงานประท้วงจะส่งผลให้โรงเรียนหลายพันแห่งหยุดการเรียนการสอน พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากต้องลางาน เพื่อดูแลเด็กที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่โรงพยาบาลเลื่อนการผ่าตัด งดการนัดพบแพทย์ และรับรักษาเฉพาะผู้ป่วยหนักเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังจะเกิดความสับสนวุ่นวายตามท่าเรือ และท่าอากาศยาน โดยเฉพาะสนามบินฮีทโธรว์ ซึ่งเป็นสนามบินใหญ่ที่สุด อาจทำให้ผู้โดยสารได้รับบริการล่าช้า และอาจต้องติดอยู่บนเครื่องบินนานถึง 12 ชั่วโมงทีเดียว
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีหลายกระทรวงต่างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการประท้วงใหญ่ครั้งนี้ จึงได้เรียกพนักงานสถานทูตบางคนไปปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ที่จะก่อการสไตรก์แล้ว
ขณะเดียวกัน เหล่ารัฐมนตรีก็เร่งเร้าให้บรรดาข้าราชการ และพนักงานรัฐเหล่านั้น ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งทางสหภาพฯ มองว่า ไม่ยุติธรรม และขาดความกระจ่างชัด หลังการเจรจากันอย่างเผ็ดร้อนมานานหลายเดือน แต่ก็ไม่คืบหน้า
ด้าน ฟรานซิส ม้อด รัฐมนตรีประจำคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลยังคงทบทวนปัญหานี้ แต่การประท้วงไม่ใช่หนทางที่จะบีบให้ยินยอม โดยการนัดกันหยุดงานนั้นรังแต่จะสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่เศรษฐกิจ และพลเมืองของประเทศอังกฤษ
มีความกังวลว่า การหยุดงานประท้วงดังกล่าวอาจก่อความเสียหายให้แก่อังกฤษมากกว่า 500 ล้านปอนด์ และอาจมีคนตกงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่ตัวเลขคนว่างงานในประเทศอยู่ที่ 2.6 ล้านคน สูงสุดในรอบ 17 ปีแล้ว
เขาเสริมว่า รัฐบาลอังกฤษไม่มีเงินที่จะเสนอให้กับสหภาพแรงงานได้อีกแล้ว พร้อมกับกล่าวหาแกนนำสหภาพว่า รีบตัดสินมาตรการของรัฐบาลเร็วเกินไป และเรียกร้องให้พวกเขาลองคิดพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ทั้งนี้ การสไตรก์ครั้งใหญ่ ที่จะเริ่มขึ้นในวันพุธนี้ ยังจะเป็นบททดสอบสหภาพแรงงาน ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอำนาจในการต่อรอง ทว่าอ่อนกำลังลงเนื่องจากกฏหมายแรงงานที่เข็มงวด และจำนวนสมาชิกที่ลดน้อยถอยลงนั้น จะยังสามารถมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลได้หรือไม่