xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปเล็งทาบIMFสมทบเพิ่มขยายกองทุนฟื้นฟูต่อสู้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - บรรดารัฐมนตรีคลังยูโรโซนตกลงเพิ่มสมรรถนะของกองทุนที่จะใช้ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาคนี้ แต่ยังสรุปตัวเลขชัดเจนไม่ได้ นอกจากนี้ยังแสดงท่าทีอาจหันไปขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากไอเอ็มเอฟ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีก็พุ่งโด่งขึ้นไปอีก กดดันยุโรปขยับใกล้หายนะทางการเงินยิ่งขึ้น

วิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปที่ยืดเยื้อมาสองปี กำลังส่งผลให้นักลงทุนพากันหนีตลาดพันธบัตรในยูโรโซน ขณะที่แบงก์ยุโรปทิ้งพันธบัตรรัฐบาล คนแห่ถอนเงินจากแบงก์ทางแถบยุโรปใต้ และแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอยโหมกระพือความเคลือบแคลงข้องใจเกี่ยวกับความอยู่รอดของระบบเงินสกุลเดียวแห่งยุโรป

ในบรรยายกาศอันอึมครึมเช่นนี้ ยูโรกรุ๊ป หรือที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง 17 ชาติยูโรโซน ซึ่งหารือกันเมื่อวันอังคาร (29 พ.ย.) ได้มีมติเห็นชอบเกี่ยวกับแผนการรายละเอียดในการเข้าค้ำประกันพันธบัตรล็อตใหม่ๆ ที่พวกประเทศยูโรโซนที่มีปัญหาจะนำออกขายระดมทุน โดยที่จะเข้าค้ำประกันในส่วน 20-30% แรกของพันธบัตรเหล่านี้ นอกจากนั้น ยูโรกรุ๊ปยังเห็นพ้องกันในเรื่องการตั้งกองทุนร่วมลงทุนเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลในยูโรโซน

ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานยูโรกรุ๊ป แจงว่าทั้งสองกลไกจะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม โดยที่กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (อีเอฟเอสเอฟ) พร้อมสนับสนุนเงินทุนราว 250,000 ล้านยูโร

กระนั้น เคลาส์ เรกลิง ประธานอีเอฟเอสเอฟ ไม่คาดหวังว่านักลงทุนจะเต็มใจลงทุนก้อนใหญ่กับพันธบัตรรัฐบาลในยูโรโซนในระยะนี้ อีกทั้งไม่สามารถระบุเป้าหมายสุดท้ายในการขยายกองทุนได้ ขณะที่จุงเกอร์ยอมรับว่า อาจไม่สามารถขยายกองทุนอีเอฟเอสเอฟได้ถึงเป้า 1 ล้านล้านยูโรตามที่เคยตั้งเป้าหมายไว้

ด้วยเหตุนี้ รวมถึงด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า เยอรมนียังคงค้านหัวชนฝาไม่ให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รับบทผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย ยูโรกรุ๊ปจึงมีความเห็นว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อาจให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ โดยที่ยุโรปร่วมสมทบด้วยในสัดส่วนเท่ากัน เพื่อสนับสนุนการขยายกองทุนอีเอฟเอสเอฟ

“เรายังตกลงที่จะเร่งรีบหาวิธีเพิ่มทรัพยากรของไอเอ็มเอฟในรูปเงินกู้ทวิภาคีตามที่มีการระบุในที่ประชุมสุดยอดจี 20 ที่คานส์ เพื่อให้ไอเอ็มเอฟสามารถสมทบเงินให้แก่อีเอฟเอสเอฟและร่วมมือกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น" จุงเกอร์สำทับ

แหล่งข่าวในอียูเผยว่า ทางเลือกหนึ่งที่มีการพิจารณาอยู่คือ ธนาคารกลางของชาติสมาชิกยูโรโซนจะเป็นผู้อัดฉีดสภาพคล่องให้ไอเอ็มเอฟ เพื่อให้ไอเอ็มเอ็ฟนำมาปล่อยกู้แก่อิตาลีและสเปนภายใต้เงื่อนไขของไอเอ็มเอฟ

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า ยูโรโซนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเชิงลึกเพื่อต่อสู้วิกฤตที่กำลังกัดกินมาถึงชาติสมาชิกใหญ่สุดบางแห่ง โดยเฉพาะอิตาลี ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 3 ของยูโรโซน

เวลานี้อิตาลีจำเป็นต้องเสนอให้ผลตอบแทยสูงถึง 7.89% เพื่อการจำหน่ายพันธบัตรอายุ 3 ปีของตน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ตั้งแต่ที่มีการใช้สกุลเงินยูโรเป็นต้นมา โดยที่เมื่อเดือนตุลาคมนี้เองแดนมักกะโรนียังต้องจ่ายเพียงแค่ 4.93%เท่านั้น ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรอิตาลีระยะ 10 ปี ก็พุ่งขึ้นสู่ระดับ 7.56% จาก 6.06%

อิตาลีนั้นมีหนี้อยู่ราว 19,000 ล้านยูโร หรือ 120% ของมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศ และจำเป็นต้องซื้อคืนพันธบัตร 340,000 ล้านยูโรที่จะถึงกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมเป็นต้นไป

โอลลี เรห์น กรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรป กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ ต้องมีแผนการลดยอดขาดดุลเพิ่มเติมจากมาตรการรัดเข็มขัดที่ผ่านการรับรองไปแล้ว เพื่อให้งบประมาณของอิตาลีกลับสู่ภาวะสมดุลตามที่สัญญาไว้ในปี 2013

นอกจากนี้ ที่ประชุมยูโรกรุ๊ปยังตกลงปล่อยเงินกู้งวดต่อไปแก่กรีซเป็นจำนวน 8,000 ล้านยูโร ซึ่งเป็นงวดที่ 6 จากเงินกู้ทั้งหมด 110,000 ล้านยูโรที่อียูและไอเอ็มเอฟตกลงไว้เมื่อปีที่แล้ว โดยจะอัดฉีดให้กลางเดือนธันวาคม หลังจากที่ไอเอ็มเอฟลงนามอนุมัติต้นเดือนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น