เอเจนซีส์ - ตลาดหุ้นทั่วโลกตกกระเจิดกระเจิง หวั่นกรีซหนีไม่พ้นผิดนัดชำระหนี้ หลังยุโรปเลื่อนการตัดสินใจปล่อยเงินกู้งวดใหม่พร้อมกดดันเอเธนส์หั่นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานยูโรโซน แถลงเมื่อวันจันทร์ (3) ภายหลังการหารือในหมู่ขุนคลังชาติสมาชิกนาน 7 ชั่วโมงที่ลักเซมเบิร์ก ว่าคณะตรวจสอบต้องการให้เอเธนส์ปรับแผนลดการใช้จ่ายในปี 2013-2014 ให้รัดกุมขึ้น อันจะนำไปสู่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่ชัดเจนก่อนสิ้นเดือนนี้ในการอนุมัติเงินช่วยเหลือก้อนที่ 2 จำนวน 8,000 ล้านยูโรตามที่ตกลงกันในเดือนกรกฎาคม
รัฐมนตรีคลังยูโรโซนต้องการให้กรีซผ่านร่างงบประมาณปี 2012 ฉบับใหม่และบังคับใช้โดยด่วน โดยรัฐสภากรีซมีกำหนดโหวตรับรองในช่วงต้นเดือนหน้า
จุงเกอร์ยังอ้างอิงว่า กรีซเผยว่ายังไม่ต้องการเงินกู้งวดต่อไปจนถึงเดือนหน้า พร้อมปฏิเสธหนักแน่นต่อข่าวลือที่ว่ากรีซจะได้รับอนุญาตให้พักชำระหนี้
นอกจากนี้ รัฐมนตรีคลังยูโรโซนกำลังทบทวนกรณีการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเงินช่วยเหลืองวดที่ 2 สำหรับกรีซ เนื่องจากสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจและการขาดดุลของกรีซแย่กว่าที่เคยประเมินไว้ โดยจุงเกอร์เตือนว่าเจ้าหนี้เอกชนอาจต้องยอมลดหนี้มากกว่า 21% ที่เคยตกลงไว้ในเดือนกรกฎาคม
อนึ่ง ภายใต้ร่างงบประมาณที่เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ ยอดขาดดุลของกรีซปีนี้จะอยู่ที่ 8.5% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จาก 7.6% ที่ตกลงไว้กับสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ขณะที่ยอดขาดดุลปีหน้าอยู่ที่ 6.8% แทนที่จะเป็น 6.5% ที่คาดไว้เดิม เนื่องจากมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะหดตัวอีก 2.5% เพิ่มเติมจากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบทำสถิติ 5.5% ส่งผลให้หนี้สาธารณะมีมูลค่าเท่ากับ 161.8% ของจีดีพีสำหรับปีนี้ และ 172.7% สำหรับปี 2012 สูงที่สุดในยุโรป นอกจากนั้น ยังทำให้มีความเป็นไปได้ว่ากรีซจะต้องการเงินช่วยเหลือสำหรับปีหน้ามากกว่าที่คาดไว้
จุงเกอร์สำทับว่า อีซีบีไม่ใช่ช่องทางหลักในการอัดฉีดเงินเพิ่มให้แก่กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ซึ่งเท่ากับเป็นการบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ว่า กองทุนฟื้นวิกฤตจะสามารถระดมทุนเพิ่มเพียงพอเพื่อสยบความผันผวนในตลาดการเงิน
กระนั้น ยังมีข่าวดีอยู่บ้างสำหรับกรีซ นั่นคือสโลวาเกียที่ยับยั้งการอนุมัติปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกองทุนช่วยเหลือของยูโรโซน รวมถึงกรณีที่ฟินแลนด์เรียกร้องให้กรีซจ่ายเงินให้เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน EFSF นั้น ล่าสุดจุงเกอร์ยืนยันว่าสามารถข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านี้ได้หมดแล้ว
ดังนั้น จึงเหลือเพียงมอลตาและเนเธอร์แลนด์ที่ยังไม่ได้รับรองข้อตกลงอัดฉีดเงินช่วยเหลือเอเธนส์
อย่างไรก็ตาม การที่กรีซยอมรับว่าไม่สามารถลดการขาดดุลได้ตามเป้าหมายในปีนี้ส่งผลให้นักลงทุนไม่มั่นใจว่าอียู-ไอเอ็มเอฟจะอนุมัติเงินกู้งวดที่ 2 ที่เดิมทีต้องให้ตั้งแต่เดือนที่แล้วหรือไม่ และหลายประเทศกังวลว่าจะต้องอัดฉีดแบงก์ท้องถิ่นมากน้อยเท่าใดหากเอเธนส์ผิดนัดชำระหนี้จำนวน 357,000 ล้านยูโร ที่อาจมีผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
ผลลัพธ์คือ ช่วงหนึ่งของการซื้อขายวันจันทร์ อัตราแลกเปลี่ยนยูโรอ่อนสุดขีดเมื่อเทียบดอลลาร์นับจากเดือนมกราคม และตลาดหุ้นตกระเนระนาดทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคาร จากความกังวลว่าผู้ถือพันธบัตรภาคเอกชนจะถูกบังคับให้ยอมรับการขาดทุนมากกว่าที่ตกลงไว้
วันจันทร์ ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลง 258.08 จุด หรือ 2.36% ปิดที่ 10,655.30 ขณะที่ดัชนีหุ้นหลักของยุโรป FTSEurofirst 300 ตกลง 1.2%
ผลพวงจากสถานการณ์หนี้ที่ไร้ความแน่นอนของกรีซยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเทขายหุ้นในฟากเอเชียวันอังคาร (4) โดยดัชนีนิกเกอิของตลาดโตเกียวร่วง 1.4% อยู่ที่ 8,423.10 ฮั่งเส็งของฮ่องกงหล่น 1.6% อยู่ที่16,554.03 เช่นเดียวกับดัชนีในตลาดหุ้นสิงคโปร์ ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียที่ติดอยู่ในแดนลบโดยพร้อมเพรียง
ขณะที่ราคาน้ำมันตกทะลุระดับ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบยูโร แต่แข็งขึ้นเมื่อเทียบเยน