ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับตั้งแต่การปฏิวัติโค่นล้มอำนาจจอมเผด็จการ ฮอสนี มูบารัค โดยพลังประชาชนชาวอียิปต์ประสบความสำเร็จด้วยดีในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ สร้างความหวังให้กับปวงชนทั้งหลายว่าพวกเขาจะได้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งรัฐบาลของพวกเขาเองมาช่วยแก้ไขปัญหาปากท้อง ความยากลำบาก และการริดรอนเสรีภาพ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทหารของอดีตประธานาธิบดีตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่แล้วหนทางแห่งประชาธิปไตยที่เหล่าพลเมืองเฝ้าใฝ่ฝันก็ไม่ได้ราบลื่นอย่างใจหวัง เมื่อพวกเขายังคงต้องรวมตัวกันชุมนุมประท้วงอีกหลายครั้ง ด้วยความไม่พอใจในหลายประเด็น โดยหนึ่งในนั้น และยังเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดคือ ความไม่พอใจต่อสภาสูงสุดแห่งกองทัพ ในฐานะรัฐบาลรักษาการ ซึ่งส่อเจตนาจะยึดครองอำนาจทางการเมืองไปอีกนาน
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนได้รวมตัวกันขับไล่ จอมพล ฮุสเซน ตันตอวี ผู้นำสภาสูงสุดแห่งกองทัพอียิปต์ ซึ่งกุมอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศหลังสิ้นยุคของมูบารัค ณ จตุรัสตอห์รีร์ ใจกลางกรุงไคโร ตั้งแต่วันศุกร์ (18 พ.ย.) ยืดเยื้อติดต่อกันหลายวัน จนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยกำลังรุนแรง โดยใช้ทั้งกระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนลูกปรายขนาดเล็ก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,250 คน
ด้านสหรัฐฯ ซึ่งนับอียิปต์ว่าเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในโลกอาหรับตั้งแต่สมัยมูบารัคครองอำนาจ ออกมาประณามทางการไคโร ที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการปราบปรามผู้ประท้วง และเร่งเร้าให้รับรองสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีของประชาชน พร้อมกันนี้ยังเพิ่มการเรียกร้องให้คณะปกครองทหารยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคมูบารัค รวมทั้งการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่านำไปสู่บทลงโทษที่โหดเหี้ยมทารุณ ส่วนสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติก็ออกมาประณามอียิปต์เช่นกัน โดยเรียกร้องให้มีการตั้งคณะทำงานอิสระสอบสวนเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม และยุติการใช้วิธีการรุนแรง ซึ่งดูเหมือนการร้องขอของสหประชาชาติจะไม่เป็นผล
อย่างไรก็ดี คณะปกครองทหารแบบรักษาการของดินแดนฟาโรห์ก็ออกมาประกาศในวันอังคาร (22 พ.ย.) ว่า ยินยอมจะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเร็วขึ้นกว่ากำหนด 6 เดือนคือภายในสิ้นเดือนมิถุนายนปี 2012 พร้อมกับเสนอจะจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากคณะปกครองทหารไปสู่มือพลเรือนทันที เป็นความพยายามในการลดความโกรธกริ้วของประชาชน นอกจากนี้ จอมพลตันตอวียังยอมอนุมัติการลาออกของคณะรัฐบาลรักษาการของนายกรัฐมนตรีเอสซัม ชาร์ราฟ ยกชุด โดยยังประกาศว่าจะยึดมั่นคำมั่นสัญญาจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในวันที่ 28 พฤศจิกายนตามเดิม
“สภาสูงสุดแห่งกองทัพ (เอสซีเอเอฟ) ไม่ได้ปรารถนาจะกุมอำนาจ และมีเจตนารมณ์เต็มเปี่ยมที่จะถ่ายโอนภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารประเทศทันที ตามที่ประชาชนหวังไว้โดยผ่านกระบวนการลงประชามติหากจำเป็น” ตันตอวี แถลง โดยว่าได้มอบหมายให้รัฐบาลชุดรักษาการนี้ทำงานต่อไปจนกระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้แล้ว เพื่อที่จะจัดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยความร่วมมือกับสภาสูงสุด
แม้ข่าวการแถลงของตันตอวีได้แพร่สะพัดไปถึงจัตุรัสตอห์รีร์ อันเป็นศูนย์กลางการชุมนุมประท้วงต่อต้านคณะปกครองทหารแล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้ประท้วงจำนวนหลายหมื่นคนซึ่งปักหลักอยู่ตรงนั้น และบริเวณห่างออกไปไม่กี่ช่วงตึก ใกล้กับที่ทำการกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์ กลับยังคงร้องตะโกนขับไล่ตันตอวีต่อไป
หลายฝ่ายมองว่า จอมพลตันตอวี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมมานานกว่า 20 ปีในสมัยรัฐบาลมูบารัค ได้ทรยศต่อความเชื่อใจของประเทศชาติ โดยดำเนินรอยตามมูบารัคไม่มีผิดเพี้ยน ด้วยความใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีมากเกินไป ทำให้เขาไม่สามารถเอาชนะใจผู้ชุมนุมประท้วงได้เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ยิ่งภาพของเขาที่ปรากฏในสื่อ เช่น ร่วมงานการเปิดถนน หรือโครงการต่างๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับมูบารัคมาก ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายต่อต้านอดีตผู้นำเผด็จการไม่พอใจเขามากขึ้น และประเด็นที่ทำให้ชาวอียิปต์จำนวนมากโกรธแค้นมากที่สุดก็คือ เมื่อตันตอวีขึ้นศาลให้การเป็นพยานว่ามูบารัคไม่ได้เป็นผู้สั่งการสังหารผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ขณะที่ประชาชานชาวอียิปต์คาดหวังการเปลี่ยนแปลงหลังการล่มสลายของระบอบมูบารัค แต่พวกเขาก็กลับพบว่าจอมพลตันตอวี มีความคิดไม่ต่างไปจากมูบารัค ซึ่งเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพอำนาจการปกครอง และการคงสสถานะของตนไว้จนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุด ลักษณะดังกล่าวได้รับการสำทับจากฟรานซิส ริกชีอาร์โดน ทูตสหรัฐฯ ประจำอียิปต์ ตามเอกสารทางการทูตเมื่อปี 2008 ที่รั่วไหลออกมา ซึ่งทูตรายนี้อธิบายว่า ตันตอวีเป็นคน “มีสเน่ห์และสุภาพเรียบร้อย” แต่ “มีอายุและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง”
สำหรับนักวิเคราะห์ทางการเมืองแล้ว เหตุผลเบื้องหลังการยื่นข้อเสนอเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยคณะปกครองทหารไปสู่พลเรือนโดยเร็วนั้นยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อปราศจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประธานาธิบดีในอนาคตก็เสี่ยงที่จะถูกจำกัดอำนาจจากกองทัพด้วย ส่วนข้อเสนอแนะจัดการลงประชามติ ให้ชาวอียิปต์เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจนั้น ก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือล้มข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ที่ต้องการถอนรากถอนโคนกองทัพจากการเมือง ในขณะที่ทหารยังมีคะแนนนิยมอย่างกว้างขวางในแดนไอยคุปต์ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้นำอยู่ก็ตาม
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ใคร หรือสถาบันใดจะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศแทน หากสภาสูงสุดแห่งกองทัพนี้ถูกยุบไป แต่ที่เห็นได้อย่างแจ่มแจ้งคือ ความไม่มั่นคงทางการเมืองได้เกาะกุมอียิปต์ไว้แล้ว นับตั้งแต่ระบอบมูบารัคล่มสลาย ขณะที่การปะทะกันจากความขัดแย้งทางศาสนา เหตุจลาจลจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน การระเบิดทำลายท่อส่งน้ำมัน และตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หดหายไป ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักลงอย่างแน่นอน.
ทั้งนี้ ผู้ประท้วงหลายหมื่นคนได้รวมตัวกันขับไล่ จอมพล ฮุสเซน ตันตอวี ผู้นำสภาสูงสุดแห่งกองทัพอียิปต์ ซึ่งกุมอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศหลังสิ้นยุคของมูบารัค ณ จตุรัสตอห์รีร์ ใจกลางกรุงไคโร ตั้งแต่วันศุกร์ (18 พ.ย.) ยืดเยื้อติดต่อกันหลายวัน จนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ที่เข้าสลายการชุมนุมด้วยกำลังรุนแรง โดยใช้ทั้งกระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนลูกปรายขนาดเล็ก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 38 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,250 คน
ด้านสหรัฐฯ ซึ่งนับอียิปต์ว่าเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดในโลกอาหรับตั้งแต่สมัยมูบารัคครองอำนาจ ออกมาประณามทางการไคโร ที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการปราบปรามผู้ประท้วง และเร่งเร้าให้รับรองสิทธิในการแสดงออกอย่างเสรีของประชาชน พร้อมกันนี้ยังเพิ่มการเรียกร้องให้คณะปกครองทหารยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคมูบารัค รวมทั้งการพิจารณาคดีพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่านำไปสู่บทลงโทษที่โหดเหี้ยมทารุณ ส่วนสำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติก็ออกมาประณามอียิปต์เช่นกัน โดยเรียกร้องให้มีการตั้งคณะทำงานอิสระสอบสวนเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุม และยุติการใช้วิธีการรุนแรง ซึ่งดูเหมือนการร้องขอของสหประชาชาติจะไม่เป็นผล
อย่างไรก็ดี คณะปกครองทหารแบบรักษาการของดินแดนฟาโรห์ก็ออกมาประกาศในวันอังคาร (22 พ.ย.) ว่า ยินยอมจะจัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเร็วขึ้นกว่ากำหนด 6 เดือนคือภายในสิ้นเดือนมิถุนายนปี 2012 พร้อมกับเสนอจะจัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากคณะปกครองทหารไปสู่มือพลเรือนทันที เป็นความพยายามในการลดความโกรธกริ้วของประชาชน นอกจากนี้ จอมพลตันตอวียังยอมอนุมัติการลาออกของคณะรัฐบาลรักษาการของนายกรัฐมนตรีเอสซัม ชาร์ราฟ ยกชุด โดยยังประกาศว่าจะยึดมั่นคำมั่นสัญญาจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติในวันที่ 28 พฤศจิกายนตามเดิม
“สภาสูงสุดแห่งกองทัพ (เอสซีเอเอฟ) ไม่ได้ปรารถนาจะกุมอำนาจ และมีเจตนารมณ์เต็มเปี่ยมที่จะถ่ายโอนภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารประเทศทันที ตามที่ประชาชนหวังไว้โดยผ่านกระบวนการลงประชามติหากจำเป็น” ตันตอวี แถลง โดยว่าได้มอบหมายให้รัฐบาลชุดรักษาการนี้ทำงานต่อไปจนกระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้แล้ว เพื่อที่จะจัดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยความร่วมมือกับสภาสูงสุด
แม้ข่าวการแถลงของตันตอวีได้แพร่สะพัดไปถึงจัตุรัสตอห์รีร์ อันเป็นศูนย์กลางการชุมนุมประท้วงต่อต้านคณะปกครองทหารแล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้ประท้วงจำนวนหลายหมื่นคนซึ่งปักหลักอยู่ตรงนั้น และบริเวณห่างออกไปไม่กี่ช่วงตึก ใกล้กับที่ทำการกระทรวงมหาดไทยของอียิปต์ กลับยังคงร้องตะโกนขับไล่ตันตอวีต่อไป
หลายฝ่ายมองว่า จอมพลตันตอวี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมมานานกว่า 20 ปีในสมัยรัฐบาลมูบารัค ได้ทรยศต่อความเชื่อใจของประเทศชาติ โดยดำเนินรอยตามมูบารัคไม่มีผิดเพี้ยน ด้วยความใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีมากเกินไป ทำให้เขาไม่สามารถเอาชนะใจผู้ชุมนุมประท้วงได้เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ยิ่งภาพของเขาที่ปรากฏในสื่อ เช่น ร่วมงานการเปิดถนน หรือโครงการต่างๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับมูบารัคมาก ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายต่อต้านอดีตผู้นำเผด็จการไม่พอใจเขามากขึ้น และประเด็นที่ทำให้ชาวอียิปต์จำนวนมากโกรธแค้นมากที่สุดก็คือ เมื่อตันตอวีขึ้นศาลให้การเป็นพยานว่ามูบารัคไม่ได้เป็นผู้สั่งการสังหารผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ขณะที่ประชาชานชาวอียิปต์คาดหวังการเปลี่ยนแปลงหลังการล่มสลายของระบอบมูบารัค แต่พวกเขาก็กลับพบว่าจอมพลตันตอวี มีความคิดไม่ต่างไปจากมูบารัค ซึ่งเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพอำนาจการปกครอง และการคงสสถานะของตนไว้จนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุด ลักษณะดังกล่าวได้รับการสำทับจากฟรานซิส ริกชีอาร์โดน ทูตสหรัฐฯ ประจำอียิปต์ ตามเอกสารทางการทูตเมื่อปี 2008 ที่รั่วไหลออกมา ซึ่งทูตรายนี้อธิบายว่า ตันตอวีเป็นคน “มีสเน่ห์และสุภาพเรียบร้อย” แต่ “มีอายุและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง”
สำหรับนักวิเคราะห์ทางการเมืองแล้ว เหตุผลเบื้องหลังการยื่นข้อเสนอเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยคณะปกครองทหารไปสู่พลเรือนโดยเร็วนั้นยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อปราศจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประธานาธิบดีในอนาคตก็เสี่ยงที่จะถูกจำกัดอำนาจจากกองทัพด้วย ส่วนข้อเสนอแนะจัดการลงประชามติ ให้ชาวอียิปต์เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจนั้น ก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือล้มข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง ที่ต้องการถอนรากถอนโคนกองทัพจากการเมือง ในขณะที่ทหารยังมีคะแนนนิยมอย่างกว้างขวางในแดนไอยคุปต์ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้นำอยู่ก็ตาม
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ใคร หรือสถาบันใดจะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศแทน หากสภาสูงสุดแห่งกองทัพนี้ถูกยุบไป แต่ที่เห็นได้อย่างแจ่มแจ้งคือ ความไม่มั่นคงทางการเมืองได้เกาะกุมอียิปต์ไว้แล้ว นับตั้งแต่ระบอบมูบารัคล่มสลาย ขณะที่การปะทะกันจากความขัดแย้งทางศาสนา เหตุจลาจลจากกลุ่มผู้ใช้แรงงาน การระเบิดทำลายท่อส่งน้ำมัน และตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หดหายไป ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักลงอย่างแน่นอน.