เอเอฟพี/เอเจนซี - คามาล อัล-กันซูรี นายกรัฐมนตรีคนใหม่วัย 78 ปีของอียิปต์ ทั้งเคยดำรงตำแแหน่งนี้มาแล้วแถมยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก๋า แต่การแต่งตั้งเขาให้เข้ากุมบังเหียนประเทศดูจะมิอาจสร้างความพึงพอใจแก่ฝูงชนที่เรียกร้องให้คืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยการชุมนุม ณ จตุรัสใจกลางกรุงโคโรล่วงเข้าสู่วันที่ 8 แล้วและผู้ประท้วงบางส่วนยังไปรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลหมายขัดขวางผู้นำคนใหม่เข้าไปในตึก
สภาสูงสุดแห่งกองทัพอียิปต์(เอสซีเอเอฟ) ซึ่งเข้ารับอำนาจหลังอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ถูกขับไล่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เผยในวันศุกร์(25) ว่าทางสภาและกันซูรี กำลังทำงานอย่างหนักในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ หลังจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อัสซาม ชาราฟ ยื่นใบลาออกเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
การแต่งตั้งนานกันซูรีมีขึ้นราวหนึ่งสัปดาห์หลังการประท้วงและเหตุปะทะนองเลือดในกรุงไคโรและเมืองอื่นๆ ที่เหล่าผู้ชุมนุมเรียกร้องให้สิ้นสุดระบอบการปกครองโดยทหารและคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว อย่างไรก็ตามการแต่งตั้งครั้งนี้อาจเสี่ยงกลายเป็นถ้วยอาบยาพิษ เมื่อผู้ประท้วงประกาศเดินหน้าขับไล่นายกรัฐมนตรีทุกรายที่อยู่ใต้บัญชาของกองทัพ
เมื่อวันอังคาร(22) เอสซีเอเอฟตอบรับใบลาออกของรัฐบาลชั่วคราวของนายชาราฟ ผู้ที่ถูกประชาชนกดดันให้ลุกจากเก้าอี้สืบเนื่องจากความอ่อนแอของเขาต่อการเผชิญหน้ากับทหาร
โดยนายพลฮุสเซน ตันตาวี ผู้นำสูงสุดของกองทัพและอดีตรัฐมนตรีกลาโหมในสมัยประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ประกาศว่าจะมอบเอกสิทธิ์แก่กันซูรีนำประเทศผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนถ่ายอันเปราะบางนี้
กันซูรี เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เมื่อปี 1996-1999 เป็นผู้ช่ำชองทางเศรษฐกิจและถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแผนปฏิรูปตลาดเสรีในอียิปต์เมื่อปี 1991 อย่างไรก็ตามข่าวการแต่งตั้งเขาที่รั่วออกมาจากสถานีโทรทัศน์เอกชนแห่งหนึ่ง ก็จุดชนวนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่าผู้ประท้วงที่ปักหลักกันอยู่ ณ จตุรัวตอห์รีร์
เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 1933 กันซูรีถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ภักดีต่อมูบารัค แต่เจ้านายเก่าสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจต่อตัวเขามาเป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว ทั้งนี้หลังเหตุปฏิวัติประชาชนโค่นล้มมูบารัคในช่วงต้นปี กันซูรี พูดจาตีตัวออกห่างจากมูบารัคระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง จนได้รับเสียงชื่นชมและมีเฟซบุ๊คหลายหน้าแนะนำให้เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต
อีกด้านหนึ่งในวันศุกร์(25) สภาสูงสุดแห่งกองทัพอียิปต์แถลงว่าในแต่ละช่วงของศึกเลือกตั้งทั่วไปอียิปต์ที่แบ่งเป็น 3 ช่วง จะเพิ่มวันลงคะแนนจากเดิม 1 วันเป็น 2 วัน โดยอ้างเหตุผลฝูงชนทีอาจแออัดเกินไปและประเด็นด้านความมั่นคง "คนที่ไม่สามารถมาลงคะแนนในวันแรกได้ ก็ยังมีโอกาสในวันต่อไป" แหล่งข่าวกระทรวงมหาดไทยบอกกับรอยเตอร์ส
อย่างไรก็ตามการเตรียมการสำหรับศึกเลือกตั้งถูกบดบังด้วยความรุนแรงระหว่างการประท้วงต่อต้านสภาสูงสุดแห่งกองทัพในใจกลางกรุงไคโรและที่อื่นๆ โดยเฉพาะที่จตรัสตอห์รีร์ มีประชาชนมาปักหลักชุมนุมเข้าสู่วันที่ 8 แล้วในวันศุกร์(25)
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนพากันไปปิดกั้นทางเข้าทำเนียบรัฐบาลของอียิปต์ในวันศุกร์(25) ในความพยายามขัดขวางนายกรัฐมนตรีคนใหม่ไม่ให้เข้าไปในอาคาร
กลุ่มผู้ชุมนุมหลายร้อยคนยืมรวมตัวบริเวณด้านนอกอาคารที่อยู่ห่างจากจตุรัสตอห์รีร์ไม่กี่ช่วงตึก พร้อมกับตะโกนขับไล่นายกันซูรี อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เปิดเผยว่าการวางตัวคณะรัฐมนตรีคงยังไม่แล้วเสร็จก่อนศึกเลือกตั้งทั่วไปและเขายังไม่มีแผนเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล