เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ยุโรปและสหรัฐฯออกมาแสดงความกังวลต่อเหตุปะทะระหว่างชาวคริสต์นิกายคอปติก กับเจ้าหน้าที่อียิปต์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย พร้อมเรียกร้องให้ทางการอียิปต์หามาตรการปกป้องชนกลุ่มน้อย
ผู้นำสหรัฐฯ, ชาติยุโรป และ บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ขอให้อียิปต์เร่งสอบสวนเหตุรุนแรงดังกล่าว ซึ่งอาจกระตุ้นให้ความขัดแย้งระหว่างศาสนาแผ่ขยายออกไป นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอียิปต์ให้ความคุ้มครองแก่ทุกๆศาสนาในประเทศ
“ผมมีความกังวลและหวั่นใจมากต่อการปะทะครั้งนี้... จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลอียิปต์จะต้องรับรองเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญในสังคมประชาธิปไตย” วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ กล่าวในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 26 ชาติที่ลักเซ็มเบิร์ก หลังทราบข่าวการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงอียิปต์กับชาวคริสต์คอปติก ซึ่งรวมตัวประท้วงเหตุโจมตีโบสถ์ในเมืองอัสวาน
ด้านทำเนียบขาวก็มีถ้อยแถลงว่า ประธานาธิบดี โอบามา รู้สึกเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มรวมถึงชาวคริสต์คอปติก ควรมีสิทธิในการนับถือศาสนา และสามารถจัดการชุมนุมโดยสันติได้
บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้กองทัพอียิปต์ออกมาปกป้อง “ทุกความศรัทธา” และขอให้พลเมืองอียิปต์ถนอมรักษา “จิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลง” ที่เคยมีในช่วงที่ขับไล่ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ลงจากตำแหน่ง
“เลขาธิการสหประชาชาติรู้สึกเสียใจต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกรุงไคโร เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา” เอดูอาร์โด เดล บัวเย รองโฆษกสหประชาชาติ เผย
การชุมนุมประท้วงของชาวคริสต์คอปติก ซึ่งกลับกลายเป็นเหตุนองเลือดครั้งนี้ ทำให้มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 40 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 300 คน โดยยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ผู้ที่ถูกจับเป็นชาวคริสต์หรือชาวมุสลิม
สภาทหารสูงสุด (SCAF) ซึ่งคุมการบริหารในอียิปต์หลังจากที่ประธานาธิบดี มูบารัค ถูกโค่นล้มเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุจลาจลดังกล่าวแล้ว
เหตุปะทะรุนแรงจากความขัดแย้งทางศาสนาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอียิปต์ ที่ซึ่งชาวคริสต์คอปติกซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดมักตกเป็นเป้าโจมตี อีกทั้งทางการของอียิปต์ก็มักถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ