xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ชาวอเมริกันตำหนิ ทั้ง “เดโมแครต-รีพับลิกัน” เป็นต้นเหตุเจรจาลดหนี้ล้มเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - ชาวอเมริกันส่วนใหญ่โยนความผิดให้ทั้ง ส.ส.เดโมแครต, รีพับลิกัน รวมถึงประธานาธิบดี บารัค โอบามา ว่า เป็นต้นเหตุที่ทำให้คณะกรรมธิการพิเศษ หรือ ซูเปอร์คอมมิตตี ไม่อาจสรุปแผนลดยอดขาดดุลงบประมาณลงได้ ขณะที่ประชาชนกว่า 1 ใน 3 มีมุมมองเชิงลบมากขึ้นต่อตัวประธานาธิบดี ผลสำรวจโดย รอยเตอร์/อิปซอส เผยวานนี้ (22)

ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 18 เชื่อว่า ส.ส.รีพับลิกัน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ซูเปอร์คอมมิตตีไม่สามารถบรรลุแผนลดการขาดดุลงบประมาณ ขณะที่อีกร้อยละ 13 มองว่าประธานาธิบดี โอบามา จากพรรคเดโมแครต คือตัวการสำคัญ

อย่างไรก็ดี มีชาวอเมริกันเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ที่ตำหนิการทำงานของ ส.ส.เดโมแครต จากการสำรวจความคิดเห็นซึ่งมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (21) และวันอังคาร (22)

คณะกรรมาธิการทั้ง 12 คนในซูเปอร์คอมมิตตี กล่าวแสดงความเสียใจที่ไม่อาจจัดทำแผนลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯได้ตามกำหนดเวลา เมื่อวันจันทร์ (21) ที่ผ่านมา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงรอยร้าวระหว่าง ส.ส.เดโมแครต กับ รีพับลิกัน ที่รุนแรงเสียจนทั้ง 2 ฝ่ายไม่อาจร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศได้

ประชาชนร้อยละ 19 โทษว่าเป็นความผิดของ ส.ส.เดโมแครต กับ รีพับลิกัน ขณะที่ร้อยละ 22 เชื่อว่า นอกจาก ส.ส.ทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ประธานาธิบดี โอบามา ก็มีส่วนผิดด้วยเช่นกัน

ชาวอเมริกันร้อยละ 35 ระบุว่า ความล้มเหลวในการจัดทำแผนลดการขาดดุลงบประมาณ ทำให้มุมมองที่พวกเขามีต่อประธานาธิบดีย่ำแย่ลงกว่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 14 ที่รู้สึกชื่นชม โอบามา มากขึ้น ขณะที่อีกร้อยละ 38 ไม่มีความรู้สึกเปลี่ยนแปลงใดๆ

ผลการสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ ยังพบว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 35 เชื่อว่า มาตรการลดงบประมาณในโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผนวกกับการขึ้นภาษี จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดหนี้สินของสหรัฐฯ

ประชาชนร้อยละ 35 ระบุว่า ปัญหาสำคัญที่จะติดตามมาหลังจากซูเปอร์คอมมิตตีไม่อาจจัดทำแผนลดขาดดุลงบประมาณได้ ก็คือ ความตกต่ำของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ผลสำรวจชิ้นนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน หลังจากซูเปอร์คอมมิตตีออกมายอมรับความล้มเหลวในการเจรจาเพื่อลดปัญหาหนี้สินของสหรัฐฯ โดยสอบถามความคิดเห็นชาวอเมริกัน 1,331 คนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมถึงสมาชิกพรรครีพับลิกัน 501 คน และเดโมแครตอีก 608 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น