เอเอฟพี - ชาติมหาอำนาจตะวันตกขานรับรายงานฉบับใหม่ของยูเอ็น ที่พิสูจน์ความผิดของอิหร่านเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ด้วยมาตรการคว่ำบาตรระลอกใหม่ ซึ่งมีธนาคารกลาง และภาคพลังงานสำคัญๆ ของเตหะรานเป็นเป้าหมาย
เมื่อบทลงโทษของยูเอ็นถูกคัดค้านโดยจีน และรัสเซีย ทำให้สหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดาออกมาตรการ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้อิหร่านยอมล้มเลิกโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์เอง
มาตรการดังกล่าวเพ่งเล็งไปที่การจำกัดความเชื่อมโยงของตะวันตก กับธนาคารกลางอิหร่าน ซึ่งเป็นแหล่งเงินของรัฐบาลจากการขายพลังงาน ที่คิดเป็น 70% ของงบประมาณของเตหะราน และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร ว่า “ตราบใดที่อิหร่านยังเดินบนทางอันตรายนี้ สหรัฐฯ ก็จะหาทาง ทั้งที่ร่วมกับหุ้นส่วน และมาตรการของเราเอง เพื่อโดดเดี่ยว และเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลอิหร่านต่อไป”
การประกาศของผู้นำสหรัฐฯ นี้เป็นการตอบรับรายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งกล่าวหาว่าอิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ด้าน ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยฟันเฟืองสำคัญในการกดดันอิหร่าน ซึ่งเล็งเป้าไปที่ภาคพลังงานโดยตรง ตลอดจนการคว่ำบาตรสินค้า บริการ และเทคโนโลยีจากภาคปิโตรเคมี
นอกจากนี้ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ ยังออกประกาศห้ามไม่ให้บริษัทใดๆ ก็ตามทำธุรกิจร่วมกับภาคธนาคารของอิหร่าน ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการสนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายได้ โดยเตือนว่า สถาบันการเงินทั่วโลกควรคิดให้หนักถึงความเสี่ยงเหล่านั้น
ขณะที่อังกฤษเป็นประเทศแรก ที่ประกาศมาตรการลงโทษเตหะรานในวันจันทร์ (21) ที่ผ่านมา โดยจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังกล่าวว่า ลอนดอนตัดสัมพันธ์ทั้งหมดกับระบบธนาคารของอิหร่านแล้ว
“สถาบันสินเชื่อและการเงินของอังกฤษทั้งหมดต้องยุติความสัมพันธ์ และการติดต่อทางธุรกิจกับธนาคารของอิหร่านทั้งหมด รวมถึงธนาคารกลางของอิหร่านด้วย” ถ้อยแถลงของกระทรวงระบุ
ส่วนแคนาดา โดยประธานสภาผู้แทนราษฎร ปีเตอร์ แวน โลน ก็ประกาศมาตรการ ซึ่งจะระงับการติดต่อทางธุรกิจกับอิหร่านทั้งหมดเช่นกัน
สำหรับฝรั่งเศสนั้นก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยการเรียกร้องให้ประเทศหุ้นส่วนนานาชาติ อายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางอิหร่าน และสั่งห้ามขนส่งน้ำมัน ทว่า ไม่ได้ประกาศเป็นมาตรการลงโทษแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า การโจมตีธนาคารกลางอิหร่านนั้น อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของเตหะรานได้อย่างลึกซึ่ง ขณะเดียวกัน ก็จะดันราคาเชื้อเพลิงทั่วโลกให้สูงขึ้น เมื่อเศรษฐกิจของชาติตะวันตกกำลังเผชิญภาวะวิกฤต