เทเลกราฟ/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สัญญาณเตือนจากกลิ่นเหม็นที่โชยมากับน้ำเน่าขังกำลังคุกคามสุขภาพทั้งกายและใจของผู้ประสบอุทกภัย ด้วยเหตุนี้ ชาวไทยจึงคิดหาทางออกด้วยการร่วมกันปั้น “อีเอ็มบอล” เพื่อใช้กำจัดแบคทีเรียร้ายในน้ำสีดำคล้ำ หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษรายงาน วันนี้ (21)
อีเอ็มบอลขนาดเท่าลูกเทนนิส ถูกโยนลงในน้ำที่ขังนิ่งมานานแรมเดือนจนกลายเป็นน้ำเน่า ผู้เดือดร้อนต่างหวังว่า กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (effective microorganisms - EM) ในอีเอ็มบอลแต่ละลูกจะช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียได้
รัฐบาล บริษัทเอกชน และกลุ่มจิตอาสา ต่างรับหน้าที่แจกจ่ายอีเอ็มบอลและน้ำหมักชีวภาพให้กับประชาชน
ขณะที่ อีเอ็ม รีเสิร์ช ออร์กาไนเซชัน (เอ็มโร) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นผู้พัฒนาอีเอ็มบอล เปิดเผยว่า อีเอ็มบอลสามารถใช้ได้ผลกับน้ำเสียในบ่อ หรืออ่างเก็บน้ำ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่า หากใช้อีเอ็มบอลในพื้นที่น้ำท่วมใหญ่ เช่น ในไทยขณะนี้ อีเอ็มบอลจะให้ผลตามต้องการหรือไม่
ด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพบก บริษัท เอ็มโร ได้ร่วมแจกจ่ายน้ำหมักอีเอ็มให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยในแต่ละวัน มีการแจกน้ำหมักจำนวน 20,000 ลิตร
ทั้งนี้ อีเอ็มบอลทำมาจากการเพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ผลิตกรดแลคติก ยีสต์ และจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง รวมเข้ากับกากน้ำตาล ดินทราย อินทรีย์วัตถุ หรือรำข้าว
กระบวนการทำงานของอีเอ็มบอล คือ การสร้างจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ดังนั้น จึงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตแบคทีเรียให้โทษ ตัวการทำน้ำเน่าเสีย
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นเรื่องประสิทธิภาพของอีเอ็มบอลก็แตกออกเป็นสองทาง ว่า ลูกบอลจุลินทรีย์นี้สามารถทำงานได้ผลกับมวลน้ำมหาศาลหรือไม่ กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้ทำการทดลองอีเอ็มบอล เพื่อไขข้อข้องใจ
“บางคนเชื่อว่า อีเอ็มบอลจะได้ผลดีที่สุดในพื้นที่ปิดที่มีน้ำปริมาณไม่มาก” นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประสิทธิภาพของอีเอ็มบอล “ถ้าใช้ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมอย่างดี มันก็อาจได้ผลชะงัด แต่ถ้าใช้ในสถานการณ์จริงตอนนี้ คำถามสำคัญ คือ มันจะได้ผลหรือไม่”
กระนั้นก็ดี มีหลายเสียงเห็นตรงกันว่า วิกฤตอุทกภัยไทยในเวลานี้เหมาะสำหรับการหาคำตอบถึงประสิทธิภาพของอีเอ็มบอลเป็นอย่างยิ่ง
“ตอนนี้ ไทยเป็นสถานที่เหมาะต่อการศึกษาเรื่องนี้ที่สุด” แคลร์ กีล์เลต์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและสุขอนามัยของยูนิเซฟ กล่าว “ไม่ได้หมายความว่า เราจะได้คำตอบในทันที แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง มันอาจช่วยประเทศอื่นๆ บนโลกได้อีกมาก”